คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 317 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4983/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากเด็กเพื่อการค้าประเวณี และแสวงหาประโยชน์จากเด็ก: องค์ประกอบความผิดและขอบเขตความรับผิด
แม้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านของจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ชักชวน แต่ขณะอยู่กับจำเลยที่ร้านก็ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 บิดาตลอดเวลา การที่จำเลยรู้เห็นยินยอมให้ลูกค้าใช้ร้านจำเลยเป็นสถานที่ติดต่อพาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ออกจากร้านไปทำการค้าประเวณีเพื่อสำเร็จความใคร่ที่อื่น โดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบจากค่าสุราอาหารที่ลูกค้าต้องสั่งเพิ่มพิเศษและลูกค้าต้องชำระค่าเสียเวลาให้แก่จำเลย ถือว่าจำเลยกระทำการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยจึงมีความผิดฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก ก็ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (5) ครบถ้วนแล้ว เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 (เดิม) การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบก็คือการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กหญิงโดยไม่ยินยอม และการพรากเด็กจากอำนาจปกครองมารดา ถือเป็นความผิดอาญา
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเราหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพโดยไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งสามกระทำชำเรา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับพวกนั่งอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่โรงอาหารของโรงเรียน ต่อมา ว. พวกของจำเลยทั้งสามพาผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมประเวณีที่ห้องน้ำของโรงเรียนแล้วบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 รออยู่ที่ห้องน้ำ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันในลักษณะต่อเนื่องกันในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่ละคนกับพวกต้องรู้กันและตกลงกันในขณะที่นั่งรอ ว. ว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มีโอกาสตั้งตัวและหลบหนีหรือขัดขืนได้ แล้วเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำทันที แม้ไม่มีจำเลยอื่นหรือบุคคลใดเข้าช่วยเหลือสนับสนุนหรือให้ความสะดวกให้มีการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยทั้งสามกับพวกแต่ละคนได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ครบทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกจึงเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อันไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย แม้เด็กจะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อจำเลยทั้งสามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำต่อเนื่องกันหลังจากที่ ว. ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้องน้ำ แม้เป็นเพียงชั่วคราวก็ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่จะต้องร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 2 มายังที่เกิดเหตุถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และประเด็นการยกข้อต่อสู้ที่มิได้ยกขึ้นในศาลล่าง
คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน
จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร และการปรับบทความผิดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก มิให้ถูกผู้ใดล่วงละเมิดได้ ข้อสาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าขณะมีการกระทำความผิด เด็กนั้นอยู่ในความปกครองดูแลของผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ หากปรากฏว่าเด็กอยู่ในอำนาจปกครองดูแลไม่ว่าเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว ผู้ใดก็ไม่อาจมารบกวนหรือทำให้อำนาจปกครองของบุคคลนั้นต้องถูกกระทบกระเทือนโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของบุคคลดังกล่าวได้
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 6 ปีเศษ อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของ ห. เพียงแต่เดินผ่านหน้าบ้านของจำเลยจะไปตาม ต. กลับมารับประทานอาหารที่บ้าน เหตุที่แวะไปหาจำเลยเพราะจำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปหาที่แคร่หน้าบ้านจำเลยแล้วล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กออกจากอำนาจปกครองที่มีอยู่เหนือผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้อำนาจปกครองถูกกระทบกระเทือนแล้ว แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 มิใช่ ห. ตามที่พิจารณาได้ความก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นข้อสำคัญอันกระทบต่อสาระอันเป็นเนื้อหาขององค์ประกอบความผิด ศาลชอบจะลงโทษจำเลยไปตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความดังกล่าวนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเรา, พรากผู้เยาว์, และการล่วงละเมิดอำนาจปกครองเด็ก การใช้ขนมล่อลวงเป็นกลอุบาย
จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษ ให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายมากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายเข้าไปแล้วจำเลยก็ได้ปิดประตู จึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากบิดามารดา และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนา และพาผู้เสียหายจากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำ ล้วนเป็นการพาผู้เสียหายจากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน จึงเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กชายโดยใช้นิ้วสอดใส่ และผลกระทบของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานโทรมเด็กหญิง-พรากเด็ก ร่วมกระทำชำเรา-หน่วงเหนี่ยวกักขัง
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับพวกอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ในลักษณะนั่งล้อมเป็นวงกลมและร่วมดื่มเบียร์อยู่ท้ายรถกระบะด้วยกัน เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกจำเลย 2 คน กระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง แล้วถูกขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยไขกุญแจห้องแล้วมากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กถูกพรากจากบิดามารดาแล้วถูกกระทำชำเราในลักษณะโทรมเด็กหญิงและถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ในห้องที่เกิดเหตุ จำเลยซึ่งอยู่ด้วยกันก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุโทรมหญิง โดยจำเลยมีกุญแจไขประตูห้องเข้ามากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ แสดงว่าจำเลยร่วมรู้เห็นเป็นใจและเป็นตัวการร่วมกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงกับพวกมาตั้งแต่ต้น และขณะจำเลยเข้ามาในห้องที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่พ้นภยันตรายจากการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกยังไม่ขาดตอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานพาและพรากเด็กเพื่อการอนาจาร: การพิจารณาองค์ประกอบความผิดและความรับผิดทางอาญา
คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ไม่จำเป็นต้องมีการหน่วงเหนี่ยว การกระทำจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจารและการยินยอมของผู้เสียหายเยาวชน ศาลพิจารณาโทษและการคุมประพฤติ
พฤติการณ์ที่จำเลยเป็นฝ่ายโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์พา อ. นั่งซ้อนท้ายไปรับผู้เสียหายที่ 1 หน้าโรงเรียนและพาออกนอกเส้นทางไปที่ร้านถ่ายรูป และไปขายบริการที่โรงแรมก็ดี และมีการรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปพักที่บ้าน ด. ก็ดี แล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูก อ. กระทำชำเราล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยกับ อ. ได้นัดกันไว้แล้วล่วงหน้า แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมสมัครใจเดินทางไปทุกหนแห่งกับจำเลยและ อ. รวมทั้งยินยอมให้ อ. กระทำชำเราก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก้าวล่วง กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุเพียง 14 ปีเศษ ความยินยอมของผู้เสียหายที่ 1 หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารและร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุสิบแปดปี ตาม ปอ. มาตรา 74 (5) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยให้กลับตนเป็นคนดี แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีอายุครบสิบแปดปี ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมได้ จึงสมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 74 ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลย โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยให้มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยหลาบจำตามมาตรา 74 (2) เห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยตามมาตรา 74 (3) ด้วย
of 7