คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 95

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13524/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ - ความผิดทางวินัยร้ายแรง - การนำเงินค่าไฟฟ้าไปฝากบัญชี
โจทก์เป็นพนักงานการเงินของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ดำเนินการนำเงินค่าไฟฟ้าที่เก็บมาได้ฝากเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารด้วยตนเอง ให้ถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยสูญเสียรายได้ในกิจการไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของนายจ้าง และเป็นความผิดทางวินัยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างหรือมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6037-6065/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ขนส่งโดยตรง
โจทก์ที่ 1 ถึง 5 และที่ 7 เป็นพนักงานปากเรือ มีหน้าที่ขับเรือยนต์ โจทก์ที่ 6 เป็นพนักงานปากเรือมีหน้าที่เป็นคนงานลูกเรือประจำเรือยนต์ โดยเรือยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ทำหน้าที่พนักงานปากเรือมีหน้าที่ชี้ตำแหน่งเรือสินค้าและรับเชือกเพื่อให้เรือสินค้าผ่านร่องน้ำเจ้าพระยาเข้าเทียบท่าเรือ โจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 36 และที่ 37 มีหน้าที่เคลื่อนย้ายสินค้าด้วยยานพาหนะหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าอยู่ในบริเวณของท่าเรือ ไม่ได้ส่งสินค้าพ้นจากบริเวณของท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้าจึงไม่ใช่การขนส่ง โจทก์ที่ 18 มีหน้าที่จัดเก็บสินค้า โจทก์ที่ 20 มีหน้าที่ตรวจสอบบัตรค่าภาระและค่ายานพาหนะบรรทุกสินค้าและตู้สินค้า โจทก์ที่ 25 มีหน้าที่ตรวจสอบค่าภาระตู้สินค้าและตรวจสอบสินค้า เป็นการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและส่งสินค้า จึงไม่ใช่การขนส่งสินค้าเช่นกัน โจทก์ที่ 30 ถึงที่ 33 และที่ 35 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในบริเวณท่าเรือ ไม่ใช่การทำงานขนส่ง ดังนั้น งานที่โจทก์ร่วม 29 คน ทำจึงไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) โจทก์รวม 29 คน จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25, 26
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 30 (1) ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่ให้พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นทำงานในวันหยุด ให้รัฐวิสาหกิจนั้นจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่พนักงานเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงทำงานในวันหยุด เมื่อโจทก์รวม 29 คน ทำงานในวันหยุดจึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7077-7079/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การจ้างงานชั่วคราวต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือ
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯ ข้อ 45 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง หากเป็นการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และให้หมายความถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย ดังนั้น การจ้างพนักงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวจึงต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือระหว่างรัฐวิสาหกิจและพนักงาน โดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ในสัญญาจ้างเป็นหนังสือนั้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมามี พ.ร.ฎ.ยุบเลิกองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ฯ จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 โดยจ่ายค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีมติคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีให้จ้างโจทก์ทั้งสามเพื่อช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วว่าจ้างโจทก์ทั้งสามเรื่อยมาโดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือหรือกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีเสร็จสิน และต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2548 การจ้างโจทก์ทั้งสามให้ช่วยปฏิบัติงานในการชำระบัญชีจึงมิได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ ไม่เข้าเงื่อนไขของการจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่จะเข้าข้อยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างฐานประพฤติผิดวินัยร้ายแรง และสิทธิในการได้รับเงินบำเหน็จของลูกจ้าง
ข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ได้กำหนดบำเหน็จไว้ในหมวด 4 การสงเคราะห์เมื่อออกจากงาน ข้อ 10 ว่าพนักงานซึ่งได้ทำงานในองค์การมานับอายุงานได้สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่นให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ผู้นั้นได้ทำงานในองค์การ การกำหนดดังกล่าวใช้กับพนักงานที่ออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตามข้อ 15 ซึ่งระบุว่า พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพหรือบำเหน็จถ้าถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิดดังต่อไปนี้ 15.1 กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ 15.2 กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งขององค์การอันเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง...15.6 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ในห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย ได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างงานจากบริษัท บ. แล้ว โจทก์มิได้ส่งงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย แต่กลับส่งงานที่รับไว้ดังกล่าวให้สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นและต่อมาในปี 2545 ได้เข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการและมีประโยชน์เกี่ยวข้องรับงานนั้นไปทำ ทั้งที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมีหน้าที่ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และจำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้เกิดผลดีและควมเจริญก้าวหน้าแก่จำเลย จำเลยมีรายได้หลักจากค่าจ้างในการรับขนส่งเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการแก่พนักงานทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนจะต้องรักษาประโยชน์ของจำเลยหากได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่ว่าจ้างให้ทำการขนส่ง จะต้องแจ้งหรือส่งงานให้หน่วยงานของจำเลยที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรับผิดชอบต่อไป แต่โจทก์กลับลักลอบเอางานของจำเลยจากสำนักงานของจำเลยไปให้นิติบุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์จากการดำเนินงานหลัก และลูกค้าผู้ติดต่อจำเลยอาจเข้าใจและเชื่อว่าเป็นการรับขนส่งของจำเลย จำเลยมีโอกาสได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในด้านการให้การบริการได้ และโจทก์ทำงานประจำห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย มีโอกาสที่จะรับการติดต่อจากลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาว่าจ้างใช้บริการของจำเลยได้ตลอดเวลาทุกวัน การลักลอบเอางานของจำเลยไปให้ผู้อื่นทำย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการขนส่งรายนั้นๆ หากมีลูกจ้างเช่นโจทก์ในนิติบุคคลใดย่อมส่งผลให้การประกอบกิจการของนิติบุคคลนั้นประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึงกิจการล่มได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.1 และข้อ 15.6 และตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2512 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ข้อ 15 วรรคสาม ระบุ "ห้ามมิให้พนักงานเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามนิติบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าอย่างเดียวกับองค์การ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ขององค์การ ทั้งนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง" ดังนั้น เมื่อโจทก์กระทำการซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของจำเลยจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งขององค์การเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.2 ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15 นี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868-5869/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การพิจารณาตามระเบียบฯ และดอกเบี้ยผิดนัด
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ต่อมามี พ.ร.ฎ.ยุบเลิกหน่วยงานจำเลยที่ 1 แต่ให้คงอยู่ในระหว่างชำระบัญชี เมื่อจำเลยที่ 1 ยุบกิจการได้เลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยหลังหักหนี้ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีได้จ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยในการชำระบัญชีโดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างกันไว้ เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยชำระบัญชีจนเสร็จเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ว่า ในขณะที่ พ.ร.ฎ.ยุบเลิกจำเลยที่ 1 นั้น กิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์จึงต้องทำงานต่อไปจนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จโดยยังคงเป็นพนักงานต่อไปตามเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โดยสำคัญผิด เพราะโจทก์ยังไม่ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งเมื่อมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์และถือว่าค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับโดยไม่มีสิทธิแต่แรกนั้นเป็นค่าชดเชยเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างในภายหลัง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้อง คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสิบสอง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิมและยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 95 เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเลิกจ้างไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 45 (3) เป็นเงิน 42,000 บาท และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868-5869/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์: การบังคับใช้กฎหมายและอัตราดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องคดีนี้ ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิม และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 ด้วยเหตุว่าการชำระบัญชีดำเนินลุล่วงแล้วหลายส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยไว้แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดหย่อนโทษทางวินัยจากไล่ออกเป็นปลดออก ไม่ทำให้การกระทำผิดร้ายแรงนั้นสิทธิค่าชดเชย
ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ข้อ 4 ทวิ ซึ่งกำหนดให้พนักงานที่ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงใดๆ ซึ่งมีโทษไล่ออก แต่มีเหตุพิจารณาให้ไม่ถึงกับจะต้องถูกไล่ออกหรือมีเหตุอันควรลดหย่อนให้เปลี่ยนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกได้ และกรณีที่พนักงานถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งปลดออกจากงานได้เพราะมีมลทินมัวหมองและอาจเป็นการเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยหากคงทำงานอยู่ต่อไปนั้น ตามข้อ 4 ทวิ วรรคสาม ให้สิทธิเพียงแต่ถือว่ามีคำสั่งปลดออกโดยไม่มีความผิดเพื่อประโยชน์ในการได้รับการสงเคราะห์เมื่อออกจากงานตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 เท่านั้น มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงการกระทำของบุคคลแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์เมาสุราหรือเสพสุราในเวลาปฏิบัติงานหน้าที่พนักงานกั้นถนนอันเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงมีโทษไล่ออกจากงาน แต่จำเลยเห็นว่าโจทก์ให้การรับสารภาพและผู้บังคับบัญชารับรองว่ามีความประพฤติดี จึงลดหย่อนโทษให้หนึ่งระดับเป็นปลดออกจากงานแล้ว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ (ข้อ 46 (3))
of 4