คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5179/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง: การจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ผู้ถือหุ้นจำเลย ได้เปลี่ยนสภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ และ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้ง กับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หมวด 6 ข้อ 45 (3) โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดแก่โจทก์
ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, ข้อตกลงหลังเกษียณ, และการผิดสัญญาหลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับและตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบการให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงาน ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้ว และการที่โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลา จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้จักโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์แต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขอดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากโจทก์เลย ดังนี้ การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่า เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัท จำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (4)
โจทก์แจ้งคุณสมบัติด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงาน และในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง
ตามใบสมัครงานตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า "นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท)" โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า "(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)" คำในวงเล็บคำว่า "lawyers" นั้น ย่อมหมายถึง ทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจของจำเลย และการจ่ายเงินตอบแทนความชอบเมื่อเกษียณตามระเบียบ
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลยได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐ ตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ ฯ พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่าเพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหาร และในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อบริษัทดังกล่าวมีทุนรวมอยู่ในบริษัทจำเลยเกินร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) และอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว จึงถูกต้องครบถ้วนแล้ว