คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 6 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7398-7399/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนแปลงหลังแปรรูป ผลต่อสิทธิแรงงานและการเลิกจ้าง
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ได้นิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าหมายถึง (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) ที่มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัท ป. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทดังกล่าวจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ย่อมทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ดังนั้นบริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อีกต่อไป แต่จะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท บ. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ย่อมสิ้นสภาพเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้แล้วสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้มีการยกเลิกด้วยเหตุนายทะเบียนมีคำสั่งให้ยกเลิกตามมาตรา 66
เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8.00 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เอกสารทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อ ว. ผู้จัดการส่วนการพนักงาน หนังสือทั้งสองฉบับนี้ระบุว่าเป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และยังระบุเรื่องการกระทำผิดของโจทก์ด้วย อีกทั้งมีข้อความเหมือนกันว่า "ดังนั้นเพื่อให้ท่านแก้ไขและปรับปรุงความประพฤติของท่านให้เป็นพนักงานที่ดีและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานการทำงานที่ดี บริษัทฯ จึงลงโทษท่าน โดยการออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติครั้งที่ 1 ขอตักเตือนว่าหากท่านฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของบริษัทโดยการกระทำผิดเช่นนั้นอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป" หลังจากนั้นปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไปไม่ถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ลงนามโดย ว. เช่นกัน แต่ระบุเรื่องว่าหนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อมีข้อความระบุการกระทำความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไป มิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือนหลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนั้น หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงมิใช่หนังสือเตือนแต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) การกระทำของโจทก์เป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ จำเลยเป็นนายจ้างสามารถไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยย่อมมีเหตุผลอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5179/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง: การจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ผู้ถือหุ้นจำเลย ได้เปลี่ยนสภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ และ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้ง กับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หมวด 6 ข้อ 45 (3) โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดแก่โจทก์
ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจของจำเลย และการจ่ายเงินตอบแทนความชอบเมื่อเกษียณตามระเบียบ
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลยได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐ ตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ ฯ พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่าเพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหาร และในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อบริษัทดังกล่าวมีทุนรวมอยู่ในบริษัทจำเลยเกินร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) และอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว จึงถูกต้องครบถ้วนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจและการจ่ายค่าตอบแทนความชอบ: จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนความชอบให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ หมวด 6 ข้อ 47 เป็นการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การพิสูจน์สาเหตุ และความรับผิดของนายจ้าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดที่มีโทษถึงขั้นไล่ออก เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน มิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้จำเลยทั้งสองจะให้การว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ เพราะโจทก์กระทำความผิดอาญาโดยทำร้ายร่างกาย พ. และถูกศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษไปแล้ว ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์นำสืบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่โจทก์ทำร้าย พ. และนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำผิดข้อบังคับและไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) แต่จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว