พบผลลัพธ์ทั้งหมด 124 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเมื่อมีการยึดและขายทอดตลาดที่ดิน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16224/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินจากการกระทำผิดยาเสพติด: เจ้าของต้องพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือโอกาสรู้ถึงการใช้ทรัพย์ในการกระทำผิด
ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจะขับรถยนต์ของกลางไปเรียนหนังสือในตอนเช้า และกลับบ้านในตอนเย็นเป็นประจำ รวมทั้งหากจำเลยมีธุระหรือจะไปซื้อของก็จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ได้โดยผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาจะไม่หวงห้ามและไม่ต้องขออนุญาตก่อน และก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน จำเลยขอยืมโทรศัพท์ของกลางจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวไปใช้โดยเปลี่ยนซิมการ์ด แต่จำเลยจะนำโทรศัพท์ไปใช้ที่ไหนอย่างไรนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบนั้น แสดงว่าจำเลยสามารถใช้โทรศัพท์ของกลางดังกล่าวได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการสอบถามถึงเหตุผลของการนำทรัพย์ของกลางไปใช้ ทั้งที่จำเลยยังเป็นนักศึกษาและอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้คัดค้านทั้งสอง เช่นนี้ผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฎีกาที่ไม่ชอบเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แม้เหตุผลต่างจากศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึง 8 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ แม้จะอาศัยเหตุผลต่างกัน แต่ผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 มา จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13876/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน และเจตนาฉ้อโกง ทำให้ไม่มีความผิดฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์
พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยาม คำว่า "การฌาปนกิจสงเคราะห์" หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตกลงเข้ากันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา 50 เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 2,000 บาท และเก็บเงินค่าช่วยเหลือจัดการศพจากสมาชิกศพละ 20 บาท โดยจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า "ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง" โดยมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคมหรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย กับบรรยายฟ้องในข้อ ข. สรุปว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อ ชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมาชิกและค่าจัดการศพ จากการบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมัครสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 50
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13385/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
แม้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น นอกจากจำเลยจะให้การต่อสู้คดีแล้ว จำเลยยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ในเรื่องเดียวกันนั้นเข้ามาในคดีเดียวกันได้ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเอกสารปลอม บันทึกตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าที่กำหนดในสัญญาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยและไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือเข้าลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถ้าหากศาลพิจารณาได้ความจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้มา ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่จำเลย อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานั้นซ้ำอีก กรณีถือว่าเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12564/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการชิงทรัพย์: ความผิดฐานสนับสนุนแม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรง แต่รู้เห็นการกระทำผิด
ขณะเกิดเหตุช่วงแรกที่จำเลยที่ 1 ขอโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหันหลังให้ผู้เสียหายและขณะที่ผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือกับจำเลยที่ 1 และถูกจำเลยที่ 1 ผลักอก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีท่าทีลุกขึ้นมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุไม่นานขณะจำเลยที่ 1 ไปพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ร้านเกม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ถอด ตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 วางแผนชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายหรือไม่ แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ย่อมต้องได้ยินคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือและขอโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งเห็นผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยมิชอบ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมคืนโทรศัพท์มือถือให้ผู้เสียหาย และเมื่อถูกผู้เสียหายยื้อแย่ง จำเลยที่ 1 ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายให้จำเลยที่ 2 รับไว้ จากนั้นจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11455/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งอายัดชั่วคราวสิ้นผลเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว การขอให้บังคับคดีต่อกับผู้ที่ถูกอายัดจึงไม่เป็นประโยชน์
คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 และตามคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดชั่วคราวจึงมีผลใช้บังคับต่อไปเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) แต่โจทก์เพิ่งมายื่นขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 เมื่อไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายอายัดตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ในระหว่างพิจารณาย่อมยกเลิกไป การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้องและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง เท่ากับขอให้ดำเนินการตามคำสั่งอายัดชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้เสียหายวางแผนล่อให้จำเลยกระทำความผิดฉ้อโกงเอง ไม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ส. ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ อ. กำลังทำรายการ "ทำผิดอย่าเผลอ" ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ม. ว่าถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นกลุ่มหลอกขายเหล็กไหลหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปหลายแสนบาท ผู้เสียหายกับ ม. จึงดำเนินการวางแผนเพื่อการจับกุมด้วยการติดต่อกับกลุ่มของจำเลยทั้งห้า หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุม โดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย มีผลทำให้การสอบสวนในความผิดดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9419/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่แจ้งวันนัดไต่สวนและไม่เบิกตัวผู้คัดค้าน ทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไข
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 11 รายการ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ก่อนถึงวันนัดผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอสอบวันนัด แต่ในวันนัดศาลชั้นต้นมิได้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเกี่ยวกับคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเรื่องคำคัดค้านฉบับใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบ หรือมีการเบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาศาลในวันนัดแต่อย่างใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการนั่งพิจารณาซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ทราบวันนัดไต่สวนคำร้องและไม่สามารถนำพยานเข้าไต่สวนตามคำคัดค้านได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ แล้วให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้องในกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
รถพยาบาลฉุกเฉินผ่านสัญญาณไฟแดงได้หากลดความเร็ว การฟ้องต้องระบุเหตุประมาทชัดเจน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 โดยบรรยายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยว่า ก่อนจำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกที่เกิดเหตุ สัญญาณจราจรในทางเดินรถของจำเลยเป็นสัญญาณจราจรไฟสีแดง จำเลยต้องหยุดรถเพื่อให้รถอื่นที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวขับผ่านทางร่วมแยกไปก่อน และเมื่อทางเดินรถของจำเลยได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้ว จึงค่อยขับรถเข้าทางร่วมทางแยก แต่จำเลยขาดความระมัดระวังขับเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมาในทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ตายได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เป็นการบรรยายฟ้องโดยอ้างเหตุประมาทว่า จำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่า รถคันที่จำเลยขับเป็นรถพยาบาลของทางราชการซึ่งจำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถนำผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเปิดไฟหน้ารถและเปิดสัญญาณไฟขอทางบนหลังคารถอันเป็นรถฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ซึ่งจำเลยผู้ขับย่อมมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุดได้ เพียงแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยซึ่งขับรถฉุกเฉินจึงมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขับรถโดยประมาทของจำเลยไว้ด้วย แม้จะฟ้งว่าจำเลยขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยมิได้ลดความเร็วให้ช้าลงและมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง