คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 404 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6134/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดบังคับคดี: การงดการไต่สวน, การเพิกถอนการขายทอดตลาด, และการประเมินราคาที่สมควร
ในวันนัดไต่สวนคำร้องเพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ ศาลพิเคราะห์คำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวน แล้วศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่า กรณีไม่มีเหตุให้เลื่อนคดี ให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์เพราะไม่มีเหตุตามคำร้องหรือไม่เชื่อว่าพยานโจทก์เจ็บป่วยจริง ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่จะให้เลื่อนคดีตามคำร้องของโจทก์ หรือสั่งให้เจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูอาการเจ็บป่วยของพยานโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41 แต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ คำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์และรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีตามคำร้องของโจทก์ในประเด็นใด อย่างไร ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์แล้วมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามคำร้องของโจทก์ต่อไปโดยไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว
กรณีที่จะเป็นการขายทอดตลาดอันฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้คัดค้านราคาขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดไปโดยไม่ขยายระยะเวลาขายทอดตลาด แต่ตามคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์อ้างว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของโจทก์ ผู้แทนโจทก์ออกไปทำธุระส่วนตัวซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อผู้แทนโจทก์กลับเข้าห้องขายทอดตลาดอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปโดยไม่มีผู้คัดค้าน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายใดที่จะต้องประกาศหรือโทรศัพท์ติดตามโจทก์เพื่อให้โจทก์มาคัดค้านราคาขายทอดตลาดก่อนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เป็นการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ว่าผู้แทนโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเอง และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีราคาซื้อขายสูงถึง 1,000,000 บาท และผู้แทนโจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าสู้ราคาไม่ต่ำกว่า 680,000 บาท ฟังไม่ขึ้น เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้ มิได้เป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร ทั้งไม่มีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง มิใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12650-12651/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังเอกสารและการงดสืบพยาน: กรณีเอกสารไม่ใช่สำเนา และจำเลยประวิงคดี
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน "สำเนา" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า "เอกสาร"ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า "เอกสาร" ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
การขอเลื่อนคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า "...ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม" แต่จากรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า ก่อนหน้านั้น ในช่วงนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลต่าง ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้นนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกันอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งก่อนวันนัดดังกล่าว ศาลได้กำชับให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อม หากขอเลื่อนคดีอีกจะพิจารณาสั่งโดยเคร่งครัดแล้ว แต่พอถึงวันนัดจำเลยทั้งสองก็ยังขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเพิ่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมฟังได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่จะงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
เหตุผลที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยทั้งสองลอกมาจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแทบทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9004/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีเนื่องจากทิ้งฟ้องทำให้กลับสู่สถานะเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิขอเลื่อนคดี
การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาภายหลังยื่นคำฟ้อง ทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงไม่มีคดีของโจทก์อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาเหตุขอเลื่อนคดีตามกฎหมาย หากไม่อนุญาตอาจเสียความยุติธรรม
การขอเลื่อนคดีเนื่องจากมีเหตุจำเป็นของคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 นั้น จะต้องมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาว่าที่โจทก์ขอเลื่อนคดีนั้นมีเหตุทั้งสองประการดังกล่าวหรือไม่ หากได้ความตามบทบัญญัติดังกล่าว ก็อนุญาตให้เลื่อนคดี มิฉะนั้นต้องยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุประการแรกว่าได้ถอนทนายความคนเดิมและแต่งตั้งทนายความคนใหม่ซึ่งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี และประการที่สองว่าโจทก์เดินทางไปเยี่ยมมารดาซึ่งป่วยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย จึงไม่อาจมาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ โดยมีสำเนาตั๋วเครื่องบินเป็นหลักฐาน ศาลชั้นต้นจึงต้องพิจารณาเหตุแห่งการขอเลื่อนคดีดังกล่าวว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรมหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า โจทก์ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งด้วยเหตุทำแผนที่พิพาท เมื่อศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่พอใจและขอเลื่อนคดีเพื่อทำแผนที่พิพาทใหม่มาหลายนัด หลังจากเจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทใหม่โจทก์ก็ยังไม่พอใจ และขอเลื่อนคดีเพื่อขอเอกสารจากสำนักงานที่ดินมาเสนอต่อศาลอีกจนมาถึงนัดนี้ศาลกำหนดนัดล่วงหน้า 3 เดือนเศษ โจทก์ทราบวันนัด แต่ก็ไม่มาศาลทั้งไม่มีพยานอื่นมาศาล เชื่อว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีโดยไม่ได้พิจารณาเหตุแห่งการขอเลื่อนคดีตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีเหตุตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดีได้หรือไม่ ซึ่งหากข้ออ้างทั้งสองประการดังกล่าวเป็นความจริง ก็ถือได้ว่ากรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะเสียความยุติธรรม แม้ระหว่างพิจารณาหลังจากจัดทำแผนที่พิพาทแล้ว โจทก์ขอเลื่อนคดีโดยแถลงขอให้เพิ่มเติมรายละเอียดในแผนที่พิพาท เช่น ขอให้ใส่รูปจำลองแผนที่หลังโฉนดที่ดินเดิมลงในแผนที่พิพาท รวมทั้งขอดำเนินการเกี่ยวกับต้นฉบับเอกสารคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาไปมากก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้คัดค้าน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาตลอด ตามรูปคดีก็จะถือว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้าหาได้ไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาเป็นการชอบไม่และถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนคดีต้องพิจารณาเหตุจำเป็นและผลกระทบต่อความยุติธรรม หากไม่พิจารณาเหตุผลของคู่ความ อาจเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง
การขอเลื่อนคดีเนื่องจากมีเหตุจำเป็นของคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 นั้น จะต้องมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาว่าที่โจทก์ขอเลื่อนคดีนั้นมีเหตุทั้งสองประการดังกล่าวหรือไม่ หากได้ความตามบทบัญญัติดังกล่าว ก็อนุญาตให้เลื่อนคดี มิฉะนั้นต้องยกคำร้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุประการแรกว่าได้ถอนทนายความ
คนเดิมและแต่งตั้งทนายความคนใหม่ซึ่งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี และประการที่สองว่าโจทก์เดินทางไปเยี่ยมมารดาซึ่งป่วยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย จึงไม่อาจมาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งด้วยเหตุทำแผนที่พิพาท และขอเลื่อนคดีเพื่อขอเอกสารจากสำนักงานที่ดินมาเสนอต่อศาลอีกจนมาถึงนัดนี้ศาลกำหนดนัดล่วงหน้า 3 เดือนเศษ โจทก์ทราบวันนัด แต่ก็ไม่มาศาล ทั้งไม่มีพยานมาสืบ เชื่อว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีโดยไม่ได้พิจารณาเหตุแห่งการขอเลื่อนคดีตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีเหตุตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดีได้หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
ดังกล่าวหาเป็นการชอบไม่ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20386/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความบกพร่องโจทก์ในการเตรียมพยานหลักฐานและการไม่เร่งรัดการส่งหมายเรียกพยาน ทำให้ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตเลื่อนคดี
เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้แล้วเสร็จตามกำหนดนัด
ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคล 11 ปาก เป็นพยานหมายทั้งหมด ไม่มีพยานประเด็นที่ศาลอื่น ซึ่งหากโจทก์ตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 ก่อนวันนัดหรือหากโจทก์เร่งส่งหมายเรียกพยานบุคคลให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ย่อมจะทราบทันทีว่าผู้เสียหายที่ 2 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2552 การที่โจทก์เพิ่งมาขอระบุพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 2 หลังจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานถึง 7 เดือนเศษ จึงนับเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง แม้ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากผู้เสียหายที่ 2 ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี แต่ก็ยังให้โอกาสโจทก์ติดตามผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความต่อศาลชั้นต้นภายในวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีเวลาเพียงพอ เมื่อถึงวันนัดโจทก์กลับแถลงว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่มาศาล และยังไม่ได้รับรายงานผลการส่งหมายเรียกให้พยานขอเลื่อนคดี พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการไม่อนุญาตเลื่อนคดี ศาลชอบด้วยกฎหมาย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 9 นาฬิกา ถึงเวลา 16.30 นาฬิกา มีความหมายว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะออกนั่งพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา และพิจารณาคดีต่อเนื่องกันไปจนเสร็จการพิจารณา เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้วก็จะมีคำพิพากษาโดยเร็วต่อเนื่องกันไปเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่มาศาลก่อนศาลเริ่มต้นสืบพยานโจทก์โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีจึงถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณาและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกหน้าสำนวนแสดงว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังแล้ว ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา ของวันเดียวกันทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เสนอคำขอเลื่อนคดีต่อศาลก่อนหรือในวันนัดพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะล่วงเลยเวลานั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง ขายลดเช็ค ผิดนัดชำระหนี้ ศาลลดดอกเบี้ยเบี้ยปรับและแก้ไขคำพิพากษา
ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนที่จำเลยที่ 2 แจ้งว่าป่วยเป็นไข้หวัดนั้น โดยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวประกอบกับการขอเลื่อนคดีหลายครั้งเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้ว และคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกไปซื้อยามารับประทานแล้วนอนพักผ่อน แสดงว่าอาการเจ็บป่วยของทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะความจริงแล้ว อ. ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการในนามโจทก์ อีกทั้งหนังสือรับรองดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ อ. จึงไม่มีอำนาจกระทำการในนามโจทก์เท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้แต่เพียงว่า อ. ไม่ได้เป็นกรรมการของโจทก์ และหนังสือดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับ หรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้คัดค้านเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว ประกอบกับขณะที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าว พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชน มี อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามหนังสือรับรองพร้อมสำเนาหมาย จ.13 แสดงว่าโจทก์ได้นำเอาต้นฉบับเอกสารมาแสดงให้ศาลชั้นต้นดูด้วย แล้วขอส่งสำเนาเอกสารไว้แทนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับของเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ ศาลชั้นต้นย่อมรับฟังสำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) และมาตรา 125 ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ระบุว่า กรรมการคนใดคนหนึ่งของบริษัทโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทโจทก์และผูกพันบริษัทโจทก์ได้ อ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจแทนบริษัทโจทก์ได้ ไม่จำต้องประทับตราของบริษัทโจทก์ ส่วนการระบุฐานะของผู้มอบอำนาจนั้นไม่มีกฎหมายข้อใดบังคับว่าการลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจต้องระบุฐานะของผู้มอบอำนาจด้วย ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจ่าหน้าซองตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องปรากฏว่าส่งไม่ได้ พนักงานไปรษณีย์ได้ระบุข้อขัดข้องไว้ที่หน้าซองจดหมายว่าไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า และได้ออกใบแจ้งความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรับจดหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ แสดงว่าพนักงานไปรษณีย์พบบ้านอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ส่งจดหมายไม่ได้เพราะไม่มีบุคคลใดลงชื่อรับจดหมาย โจทก์จึงได้ประกาศบอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 แล้ว
สัญญาขายลดตั๋วเงิน ข้อ 2 ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลด และโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินนั้นไม่ได้เมื่อถึงวันกำหนดใช้เงินนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนลดเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้ยึดทรัพย์ที่จำนองทั้ง 3 รายการมาชำระหนี้โจทก์โดยคิดดอกเบี้ยหนี้จำนองในวันก่อนทำสัญญาและวันทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะดอกเบี้ยหนี้จำนองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่นเดียวกับหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คซึ่งเป็นหนี้ประธาน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยลดลงผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะต้องรับผิดลดลงด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วมและเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมิได้ยื่นฎีกาขึ้นมาด้วยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7583/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุจำเป็นในการเลื่อนคดี: ศาลต้องพิจารณาเหตุผลของทนายโจทก์และมิอาจถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานได้
ทนายโจทก์ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำคำร้องของทนายโจทก์มายื่นต่อศาลเพื่อขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่ามีความจำเป็นต้องไปติดต่องานด่วนที่ศาลอื่น ไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนดนัด ซึ่งทนายจำเลยได้รับสำเนาแล้วแถลงไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดเองแต่กลับไม่สนใจวันนัดจึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานและให้งดสืบพยานโจทก์ โดยมิได้สั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ว่ามีเหตุจำเป็นอันสมควรที่จะให้เลื่อนคดีหรือไม่ หาเป็นการชอบไม่ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนคดีล้มละลายและการมีอยู่ของคู่ความโดยชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 เป็นนัดแรก ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์โรงพยาบาล ร. มาแสดง ระบุว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ ประกอบกับทนายโจทก์ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดีจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยที่ 1 มีอาการป่วยจริง พฤติการณ์ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ จึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
ในวันนัดสืบพยานดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้ ป. เสมียนทนายมาศาลและมีอำนาจในการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา ฟังคำสั่งและลงลายมือชื่อแทนทนายจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ป. จึงมีฐานะเป็นคู่ความแล้ว มิใช่ไม่มีคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาจึงไม่ชอบ
of 41