คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วัส ติงสมิตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 80 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาและการฟ้องคดีอาญา: ข้อหาแจ้งไม่ตรงกับฟ้องไม่เป็นเหตุให้คดีตก
ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ ก็เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำของผู้ถูกจับเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ถูกจับเข้าใจถึงการกระทำของผู้ถูกจับซึ่งเป็นความผิดนั้น เพื่อประโยชน์ในการให้การ ให้ถ้อยคำ หรือต่อสู้คดี โดยเจ้าพนักงานผู้จับไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ตรงกับที่พนักงานอัยการโจทก์จะฟ้องผู้ถูกจับ เพราะคดียังต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าผู้ถูกจับกระทำความผิดหรือไม่และกระทำความผิดฐานใด
คดีนี้ แม้บันทึกการจับกุมแจ้งข้อหาว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติข้างต้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13725/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหาย และการพิจารณาคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโดยไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องบรรยายโดยสรุปได้ความว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารกับบริษัทผู้เสียหาย การก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จและอาคารดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านจึงแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบริษัทผู้เสียหายก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วแต่จำเลยกลับไม่ยอมชำระราคากับรับมอบที่ดินและอาคารจากบริษัทผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยแจ้งลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และต่อมาจำเลยใช้อ้างเอกสารราชการดังกล่าวต่อประธานศาลปกครองสูงสุดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวนั้นได้อ้างถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิด ทั้งบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วด้วย อันครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 และ 268 โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่พาดพิงและเจาะจงว่ากล่าวถึงผู้เสียหายอันเป็นเหตุให้สิทธิของผู้เสียหายถูกกระทบกระเทือน ผู้เสียหายจึงได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11727/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตุลาการมีอิสระในการพิจารณาคดี การฟ้องละเมิดจากคำสั่งศาลต้องเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือมิชอบ
โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม โดยยืนยันมาในคำฟ้องว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีปกครอง ซึ่งแสดงถึงเจตนาของโจทก์ทั้งสามว่าไม่มีความประสงค์ที่จะนำคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลปกครอง และการพิจารณาวินิจฉัยคดีตลอดจนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางโดยจำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการใช้อำนาจตุลาการมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองซึ่งไม่เข้ากรณีคดีพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) ถึง (6) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 271 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 233 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป บัญญัติว่า "การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" ทั้งยังมีบทบัญญัติในส่วนเดียวกัน มาตรา 249 รับรองอำนาจอิสระในการทำหน้าที่ของศาลด้วย ดังนี้
"ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา"
ตามบทบัญญัติในมาตรา 233 และมาตรา 249 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 277 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง ที่บัญญัติว่า "การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล" ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองผู้พิพากษาและตุลาการในศาลทั้งหลายรวมทั้งตุลาการศาลปกครองให้สามารถทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงครอบงำของบุคคล องค์กร หรืออำนาจอื่นใดทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถดำรงสถานะของความเป็นกลางในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้อย่างเป็นอิสระไม่ต้องกังวลหวั่นเกรงว่าจะต้องรับผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผู้พิพากษาและตุลาการผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้รอดพ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่อาจเสียประโยชน์จากคำตัดสินชี้ขาดของศาล ดังนั้น อำนาจในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาแห่งคดีจึงเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการ บุคคลใดจะฟ้องร้องให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการรับผิดจากการใช้อำนาจทางตุลาการไม่ได้ เว้นแต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ โจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาออกคำสั่งและวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพียงแต่กล่าวอ้างว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดี จำเลยทั้งสี่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยซึ่งเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 132 โดยชัดแจ้งเท่านั้น อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจและไม่เห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อตรวจสอบทบทวนแก้ไขให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามต่อไปได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ประกอบ มาตรา 11 (4) ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ทั้งสามบรรยายมาในฟ้องจึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามไม่ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยไม่จำต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสาม ประกอบมาตรา 131 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11714/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน – สิทธิเรียกร้องคืนเงิน – อายุความ – การชำระหนี้โดยสุจริต – การใช้สิทธิเรียกร้อง
ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ส่วนตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ม. นั้น ม. จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาซึ่งจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากจำเลย 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 และคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ศาลมีวินิจฉัยถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ ม. รับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันสำหรับเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ การที่จำเลยที่ 2 ละเลยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 เอง จะยกเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องคืนเงินให้แก่ ม. หรือแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. มิได้ เมื่อ ม. หรือโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระจะเรียกร้องเอาได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานละเมิด แต่มิได้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ ม. รู้ถึงการละเมิด คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วและถือว่าประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11572/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าชำรุด และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายโดยศาล
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยรับขนส่งสินค้าที่พิพาท และชื่อผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศก็ไม่ใช่ชื่อของจำเลย ส่วนตอนท้ายจำเลยให้การว่า หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าแล้ว จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม คำให้การดังกล่าวเมื่ออ่านโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด อันจะถือเป็นคำให้การที่ขัดกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำให้การของจำเลยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่สอดคล้องกับชื่อที่จดทะเบียนไว้แล้วของผู้อื่น และการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้า
จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด" ซึ่งมีคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า "โต๊ะกัง" และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า "โต๊ะกัง" รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต้องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี
สัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ที่มีข้อตกลงกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทหรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งต้องเสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 11 เมื่อการวินิจฉัยในปัญหาระหว่างคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนฟ้อง
ตามสัญญารับจ้างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ว่า สัญญาบริการทางวิชาชีพและสัญญาบริการออกแบบทางวิชาชีพ แปลได้ความว่า "ในกรณีที่มีข้อเรียกร้องข้อพิพาท หรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ..." ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาทไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรอืเผขแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อตกลงตามสัญญาจ้างกำหนดเรื่องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9454/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาหลังถอนฟ้องคดีเดิม: โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องได้หากพนักงานอัยการเป็นโจทก์ดำเนินคดีแล้ว
แม้ว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ก็ตามแต่คดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาของศาลจังหวัดนางรองที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนั้นโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ดังนั้น ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้อีกด้วย การถอนฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด และย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 36 (3) และ 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9454/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาหลังถอนฟ้องคดีเดิม: โจทก์มีสิทธิฟ้องได้หากคดีใหม่มีประเด็นต่างจากเดิม
โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2545 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต แต่คดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด ย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 36 (3) และ 39 (2)
of 8