คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ยงยุทธ สุเรนทร์รังสิกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน โดยจำเลยมีสัญชาติไทย และความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติ
หลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดลักษณะผู้กระทำความผิดต้องเป็น "ผู้ไม่มีสัญชาติไทย" เป็น "ผู้ใด" มีผลให้ผู้กระทำความผิดจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ และในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีผลให้จำเลยไม่ต้องรับโทษในฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนี้ เพราะจำเลยมิใช่ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 14 ที่แก้ไข
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยกับ ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) แต่กลับระบุถึงสัญชาติจำเลยว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันผิดไปจากลักษณะของบุคคลที่จะเป็นตัวการกระทำความผิดตามบทมาตรานี้เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องเช่นนี้ ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องนี้เป็นตัวการร่วมกับนาย ย. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยกระทำความผิด แต่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: ผู้ยื่นคำร้องต้องมีอำนาจตามกฎหมาย หรือได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นไม่มีสิทธิฟ้อง
ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ถือว่าการที่เทศบาลนครจำเลยรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยแล้ว เป็นการรับรองว่าผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะกลับมาอ้างว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลัง หากจำเลยพบในภายหลังถึงเหตุที่ทำให้คำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ได้
ป. มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ให้ลงนามแทนในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ ป. ยื่นต่อจำเลย เป็นการยื่นคำร้องที่ผู้รับประเมินมิได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนาม จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 และมาตรา 27 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความฟ้องคดีภาษี: แม้มีเหตุผลทางปกครอง การฟ้องต้องเป็นไปตามกำหนด 30 วัน
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินและคำชี้ขาดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิพาทและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 39 โจทก์ก็ต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2547 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินหากโจทก์ชนะคดีย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: ข้อสันนิษฐานความผิด, การยกฟ้อง, และอำนาจศาล
คำเบิกความและบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามสายงานอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติมีความน่าเชื่อถือและเป็นกรณีมีหลักฐานปรากฏว่า ว. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. ซึ่งเป็นภริยาของ ว. ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานหักล้างได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า ทรัพย์สินของ จ.เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีที่ ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีผลขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับหนี้โดยประนีประนอมยอมความ และสิทธิในดอกผลนิตินัยหลังการระงับหนี้
ป.พ.พ. มาตรา 761 มิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน และในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้ โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินปันผลที่รับไว้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15549/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ: การฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่โต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาที่คัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้ายทุกตัว ต่างแต่ลักษณะตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบและมีเหตุผลประกอบข้อโต้แย้งอย่างไร ทั้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีขึ้นก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษา จึงไม่อาจโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ล่วงหน้าได้อยู่ในตัว ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13060/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนจำคุก โดยมิชอบตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนคดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ไม่ได้ ดังนั้น ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสี่ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์ต้องพิสูจน์การอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา หากผู้เยาว์เต็มใจออกจากบ้านและขาดการติดต่อ การกระทำจึงไม่เป็นความผิด
ขณะที่จำเลยชักชวนนางสาว ว. ไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาไม่ยินยอม แต่นางสาว ว. ไม่เชื่อฟังเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าและจำเลยมารับไป หลังจากนั้นหลายเดือน นางสาว ว. ไม่ได้กลับมาบ้านและไม่ได้ส่งข่าวมาที่บ้านเลย ผู้เสียหายจึงไม่ทราบว่านางสาว ว. อยู่ที่ใด แสดงว่านางสาว ว. เต็มใจออกจากบ้านผู้เสียหายไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้อง และบิดามารดามิได้ใส่ใจติดตาม นางสาว ว. จึงไม่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาแล้ว การที่จำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราในเวลาต่อมา จึงไม่เป็นการพรากนางสาว ว. ไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 318

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12174/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืน และการคืนของกลางแก่เจ้าของที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องและศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของโจทก์เองว่าอาวุธปืนของกลางมีรอยขูดลบเครื่องหมายทะเบียนและขูดลบแก้ไขเลขหมายประจำปืน แต่ไม่อาจยืนยันว่าเครื่องหมายทะเบียนและเลขหมายประจำปืนเดิมเป็นเลขหมายใด ศาลอุทธรณ์ย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมารับฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่น และลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 มิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อเท็จจริงในสำนวนดังที่โจทก์ฎีกา และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 แม้โจทก์มิได้มีคำขอให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49, 195 วรรคสอง, 215 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10756/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และผลกระทบต่อการบังคับคดี
คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาขาคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นลำดับ หากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วแม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าว
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5)
of 3