คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ สุเสารัจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 73 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเงินส่วนเกินจากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับเงินคืนตามสัญญา
รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต่อมามีการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางที่เกินกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์อันพึงริบตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าปรับจากสัญญาจ้างทำไม้: อำนาจฟ้อง, สัญญาไม่เป็นโมฆะ, อายุความ 10 ปี
โจทก์ตั้งสิทธิฟ้องเรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญาจ้างทำไม้ต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องค่าปรับ ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับก่อนแล้วจึงจะใช้สิทธิฟ้องบังคับเอาจากจำเลยได้ แม้ปรากฏว่าเคยมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้องกันก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันที่มีต่อกันระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย
โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยขนส่ง: ความคุ้มครองยังคงมีผลจนกว่าจะส่งมอบสินค้าให้ผู้รับ แม้กรมธรรม์จะหมดอายุ
ป.พ.พ. มาตรา 883 และมาตรา 885 ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้วิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจจะเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงได้กำหนดความคุ้มครองไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยและบังคับให้ผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น
เมื่อมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนให้คุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับขนไปจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงไม่อาจนำวิธีการประกันภัยซึ่งมีกำหนดเวลาในกรณีทั่วไปมาปรับใช้ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น ดังนี้ สัญญาประกันภัยในการรับขนที่มีกำหนดเวลาย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งตั้งแต่เวลาที่รับของไปในกำหนดเวลาประกันภัย จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง หาได้มีความหมายว่าสัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดเวลาประกันภัยทันทีดังเช่นสัญญาประกันวินาศภัยในกรณีทั่วไปที่มิได้มุ่งคุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์รับประกันภัยรถแทรกเตอร์ที่ขนส่งตั้งแต่โกดังของผู้เอาประกันภัยจนถึงโกดังของลูกค้าของผู้เอาประกันภัย ถึงแม้สัญญาประกันภัยพ้นกำหนดระหว่างเดินทางก็คุ้มครองของที่ขนส่งจนถึงปลายทาง ถือว่าการประกันภัยยังไม่สิ้นสุดจนได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์นั้นแก่ผู้รับตราส่ง และกำหนดเวลาประกันภัยหาสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 886 (4) ไม่ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงแต่กำหนดให้ต้องเริ่มทำการขนส่งภายในกำหนดที่ระบุไว้เท่านั้น หาได้มีความหมายว่าการประกันภัยสิ้นสุดเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขนส่งไม่ เมื่อรถแทรกเตอร์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง และโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำในการทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้
ใบเสนอราคาค่าขนส่งเอกสารหมาย ป.ล. 1 จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาเสนอราคาค่าขนส่งแก่บริษัท ส. โดยระบุเพิ่มเติมว่า ราคาที่เสนอมานี้ไม่รวมค่าความเสียหายและสูญหายในระหว่างการขนส่ง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำประกันภัยการขนส่งไว้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และจำเลยที่ 1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะมีโอกาสได้รับใช้ท่านเหมือนเช่นเคยนั้น เป็นเพียงข้อเสนอค่าขนส่งที่ไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. แสดงความตกลงเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดโดยชัดแจ้ง ส่วนใบรับรถเอกสารหมาย ป.ล. 2 นั้น มีหลายใบแต่ไม่ปรากฏว่ามีใบรับในการขนส่งรถแทรกเตอร์ไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ลูกค้าของบริษัท ส. ดังนี้ ใบเสนอราคาและใบรับตามเอกสารหมาย ป.ล. 1 และ ป.ล. 2 ดังกล่าว ไม่เป็นข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของสัญญาประกันตัวที่เกิดจากเอกสารปลอม การไต่สวนเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ประกันจำเลยต่อศาลชั้นต้น เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยเป็นเอกสารปลอม โดย ว. ร่วมกับ ร. ปลอมลายมือชื่อผู้ร้องในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านนำไปใช้ประกอบโฉนดที่ดินของผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เอกสารที่นำมายื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาล มีการปลอมลายมือชื่อของผู้ร้องจริงหรือไม่ เพื่อที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไปว่าสัญญาประกันมีผลผูกพันผู้ร้องหรือไม่ เห็นควรให้ย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนในประเด็นดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วมีคำสั่งใหม่ไปตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10368/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากสัญญาซื้อขาย น.ส.3ก. แม้มีโฉนดในชื่อผู้ขาย สิทธิยังเป็นของผู้ซื้อ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แบ่งซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จาก ช. โดย ช. ได้รับชำระค่าที่ดินจากโจทก์และได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้แบ่งแยกโอนให้แก่โจทก์ ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินในนามของ ช. หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง ย่อมแสดงว่าขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ช. ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การโอนสิทธิครอบครองในกรณีนี้สามารถกระทำได้ทั้งการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ซึ่งโจทก์ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้วว่า ช. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา แสดงว่า ช. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป แม้ต่อมาจะได้ความว่า ช. นำที่ดินพิพาทไปออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ช. ก็ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินแทนโจทก์เท่านั้น แม้ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จะมีสิทธิจัดการได้ แต่ที่ดินพิพาทยังเป็นสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เพื่อขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทได้ การที่ศาลชั้นต้นกลับไปวินิจฉัยเรื่องอายุความว่าโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายที่ดินเกินกว่า 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม คดีจึงขาดอายุความ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวต่อไป จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9720/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิการฎีกาความผิดฐานมีอาวุธปืน – โจทก์ไม่สามารถฎีกาความผิดเดิมที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องได้
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์จึงฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คโดยภริยาที่ได้รับมอบหมายจากสามี ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
การที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้ภริยาจำเลยเป็นผู้กรอก วัน เดือน ปี และจำนวนเงินในเช็คดังกล่าวด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทดังกล่าว เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินจากการคืนค่าขึ้นศาลหลังการล้มละลาย: เงินที่ศาลคืนถือเป็นทรัพย์สินที่อาจแบ่งได้
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าลูกหนี้ที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้ร้องเพื่อนำไปชำระค่าขึ้นศาลตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 711/2548 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว ก็ตาม แต่เมื่อศาลจังหวัดสีคิ้วรับเงินไว้ เงินดังกล่าวย่อมมิใช่เงินของลูกหนี้ที่ 2 แล้ว ต่อมาลูกหนี้ที่ 2 ขอถอนฟ้องและศาลมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลแก่ลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 190,000 บาท จึงถือได้ว่าเงินที่ศาลสั่งคืนนี้เป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (2) จึงเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิในคดีค่ารักษาพยาบาล: กฎหมายพิเศษแรงงานไม่ได้เปิดช่องให้เรียกคืนเงินทดแทน
การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว, การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด, และเหตุไม่ควรให้ล้มละลาย
ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน" การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ
of 8