คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 157

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลสำหรับผู้ยากจนในการอุทธรณ์คดีผู้บริโภค และผลกระทบต่อการวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นคนยากจนไม่มีเงินชำระว่า อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งมีความหมายว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฟ้องอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งรวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 157 ด้วย สำหรับเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ คือ เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 229 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์โดยไม่ต้องวางเงินความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมศาล อุทธรณ์คำสั่งพิจารณาคดีใหม่ และการวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่นำเงินค่าธรรมเนียมศาลซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่จำต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายตามคำพิพากษา จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมด หากศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยได้รับยกเว้นย่อมรวมถึงค่าธรรมเนียมศาลซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามป.วิ.พ.มาตรา 229 ด้วย แต่หากศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์มาวางด้วย ซึ่งหากจำเลยนำเงินมาวางตามคำสั่ง อุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยมาตรา 229 หรือหากศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนและจำเลยนำเงินส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นมาวางศาล อุทธรณ์ของจำเลยย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยมาตรา 229 เช่นเดียวกัน กรณีจึงมีเหตุย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลยก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก, การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา, ค่าฤชาธรรมเนียมคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลยที่ 1 เพื่อขยายกิจการค้าขายเครื่องสำอาง จึงได้ว่าจ้างให้ ช. ดำเนินการปรับปรุงโดยจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้ ช. รื้อผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านโดยพลการโดยไม่ได้ขออนุญาตจากโจทก์ร่วมหรือแจ้งการรื้อถอนผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านให้โจทก์ร่วมทราบก่อนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364
การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ ช. ปรับปรุงอาคารบ้านเลขที่ 7 ของตนด้วยการก่อสร้างเป็นผนังปูนแทนผนังร่วมไม้ทั้งสองด้านโดยต้องรื้อถอนผนังอาคารไม้เดิมซึ่งเป็นผนังร่วมกับอาคารบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน และคอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด จึงทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านเลขที่ 5 และเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อถอนผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจที่โจทก์ร่วมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ซึ่งก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ดังกล่าวไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อจิตใจได้
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาคดีส่วนแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 ทั้งนี้ เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล" เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7793-7794/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์และการใช้บังคับค่าธรรมเนียมศาลเดิมที่เกิดขึ้นก่อนการรวมสำนวนคดี
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ถือว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ และอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ แสดงว่าศาลชั้นต้นพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลแล้วว่า ไม่มีข้อเท็จจริงใดอันจะทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวเป็นอย่างอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคสาม และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมรวมถึงเงินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 157 ด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 วางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะนำเงินบางส่วนมาวางศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันให้ต้องนำเงินส่วนที่ขาดมาวางเพิ่มเติมเป็นค่าธรรมเนียมใช้แทนในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, อํานาจฟ้อง, การดำเนินคดีอย่างคนอนาถา, และผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมศาล
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5293/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์: หลักเกณฑ์และข้อยกเว้น
การยื่นอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินมาชำระหรือวางต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ 2 จำนวน คือ ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ และเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 เพื่อเป็นประกันว่าหากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ได้ โดยผู้ชนะคดีไม่ต้องดำเนินการบังคับคดี เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนี้มิใช่ค่าธรรมเนียมศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วเชื่อว่ามีความสามารถพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ได้ จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระ จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาล ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่และวรรคห้า เนื่องจากเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมศาล แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาเสียทีเดียว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลโดยไม่ได้รับการยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเว้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาล จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกคำสั่งศาลชั้นต้นส่วนที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) หาเป็นการสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5504/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้องคดีเนื่องจากฐานะยากจน ต้องดำเนินการภายใน 7 วันนับจากวันที่ทราบคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วและให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์
2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการวางค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำพิพากษา
การที่จำเลยยกเหตุคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองครั้งรวมมาในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ หามีผลทำให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ไม่ และแม้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องนำค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนมาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ให้ครบถ้วน คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 234 และการคืนค่าขึ้นศาลกรณีคำร้องไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 3 ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง แม้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จะเป็นเรื่องที่ขอให้ศาลรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เกี่ยวเนื่องกับการขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว แต่ก็เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว เมื่อมีการอุทธรณ์ย่อมทำให้การบังคับคดีต้องล่าช้าออกไป อาจเสียหายแก่โจทก์ผู้ชนะคดีได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 234 ในกรณีเช่นนี้ให้ครบถ้วนด้วย การที่จำเลยที่ 3 ยกเหตุคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองครั้งรวมมาในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ หามีผลทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 234 ไม่
จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน เป็นผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องนำค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนมาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษา
ฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 3 นำมาวางศาลด้วยนั้นเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและเสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาท ซึ่งที่ถูกต้องแล้วต้องทำเป็นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการของศาลเมื่อจำเลยขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ต้องแยกค่าธรรมเนียมศาลออกจากเงินตามคำพิพากษา
การที่ศาลอนุญาตให้บุคคลใดฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณารวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 157 สำหรับเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ คือ เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามในมาตรา 229 ส่วนเงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือประกันที่ต้องให้ไว้ต่อศาลตามมาตรา 234 มิใช่ค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว จำเลยจะขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาให้ศาลยกเว้นไม่ต้องชำระหาได้ไม่
of 4