คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 655

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 144 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จำนองกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยทบต้นเกินอัตรากฎหมายกำหนด ยอดหนี้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่สามารถแบ่งแยกต้นเงินได้
เมื่อจำเลยยอมรับว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเกิดจากการนำมูลหนี้ต่าง ๆ ที่มีก่อนหน้านั้น (หนี้กู้ยืมเงิน) มารวมเป็นยอดหนี้จำนอง ต้องถือว่าหนี้ประธานคือ หนี้กู้ยืมเงินซึ่งถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ ดังนั้น หนี้ในส่วนต้นเงินในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ซึ่งมีจำนวน 7,387,884 บาท จึงมิได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย เมื่อรวมกับต้นเงินที่จำเลยขอกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 610,000 บาท แล้วรวมเป็นต้นเงินจำนวน 7,997,884 บาท ที่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับแต่ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนองเป็นต้นไปเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 5,998,413 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 13,996,297 บาท
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมเงิน: ศาลฎีกาพิพากษาตามสัญญาเดิม หลังศาลอุทธรณ์ลดจำนวนเงิน
โจทก์เบิกความยืนยัน โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 290,000 บาท โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2535 จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท เท่านั้น และในปี 2536-2538 จำเลยได้ทำการชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกปีเป็นจำนวน 3 ครั้ง ต่อมาปี 2539 และปี 2540 จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 แต่ความจริงจำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท เท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 เป็นจำนวนเงินมากกว่า 30,000 บาท เพราะจำเลยมิได้ค้างชำระดอกเบี้ยเฉพาะในปี 2539 และ 2540 แต่ในปี 2536-2538 จำเลยก็ยังผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบ การที่จำเลยอ้างว่าในปี 2543 ได้นำเงิน 80,000 บาท ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยอมคืนสัญญากู้ยืมเงินให้ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน ทั้งจำนวนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงเงินต้นเท่านั้นไม่รวมไปถึงดอกเบี้ยด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะคืนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 290,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นแก่โจทก์ 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินกู้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ออก ศาลต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5532/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาเช่าซื้อ/กู้ยืม, การขยายเวลาชำระหนี้ไม่กระทบอายุความ, ดอกเบี้ยในดอกเบี้ยเป็นโมฆะ
สัญญาข้อ 8 ที่ว่า "เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา..." มีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขยายอายุความ
ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ การที่โจทก์นำหนี้ที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสภาพนิติบุคคล หักบัญชีชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทจำนอง - การบังคับชำระหนี้ - อัตราดอกเบี้ย - การชำระหนี้ด้วยเงินบาท
ธนาคารโจทก์ให้บริษัท ส. กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ภริยาจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นพยานและให้ความยินยอมต่อมาบริษัท ส. ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องบริษัท ส. เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรับสำเนาคำฟ้องและยื่นคำให้การแล้ว มิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใดอันเป็นเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามมาตรา 9 ทั้งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยานโจทก์และนำพยานจำเลยทั้งสองเข้าสืบอีกด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาที่จะโต้แย้งในปัญหาดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป
การที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิคู่กรณีมิให้นำเสนอต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ได้ ดังนั้น การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดกันแล้ว หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ ก็จะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 10 แต่คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันอาจมีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ซึ่งเป็นข้ออ้างที่บริษัท ส. มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ก็ตามแต่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ในเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใดถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส. แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวก็ตามแต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรส เพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 2ผู้ภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
แม้ทางนำสืบของโจทก์จะไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีการเสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (SingaporeInterbank OfferedRate:SIBOR) คิดกันในอัตราร้อยละเท่าใดต่อปีก็ตามแต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และบริษัท ส. ตกลงกัน โดยเขียนเป็นสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปีได้ว่า SIBOR+0.8%+11.111%(SIBOR) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่บริษัท ส. จะรับผิดชดใช้ให้โจทก์มากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับ SIBOR เท่านั้นหาได้หมายความว่าเมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ย SIBOR ว่าเป็นเท่าใดแล้ว จะให้ถือว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และบริษัท ส. ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ไม่เพราะหลังจากที่บริษัท ส. รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์แล้ว มีการคิดคำนวณดอกเบี้ยตามสูตรดังกล่าว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดมาตามอัตราดอกเบี้ยของ SIBOR ที่เป็นฐานคิดคำนวณนั้นเอง โดยที่บริษัท ส. มิได้โต้แย้งแต่ประการใด ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตรา 10.0847 ต่อปีหลังจากที่บริษัท ส. ผิดนัด จึงชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองเลือกที่จะชำระเงินด้วยเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทยก็ได้ตามแต่จะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกชำระเป็นเงินไทยก็ต้องชำระเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตามมาตรา 196 วรรคสอง ฉะนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาว่าในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าวในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณนั้น ย่อมเป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของตนที่จะชำระหนี้ด้วยเงินไทยก็ได้ มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อหักทอนบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงวันหักบัญชี
จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์แบบไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามวิธีและประเพณีของธนาคาร มี ช. ทำสัญญาจำนำสิทธิการรับฝากเงินที่ฝากไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ปรากฏว่าหลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยขอเพิ่มวงเงินจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยินยอม วันที่ 2 กันยายน จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากและดอกเบี้ยของ ช. ที่ประกันหนี้ไว้มาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่า หลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยยังประสงค์จะกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไป จึงมิได้แจ้งให้โจทก์นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชี แต่เพิ่งแจ้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน ทั้งที่จำเลยเคยเป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารมาก่อนย่อมต้องทราบดีถึงการคิดดอกเบี้ยของธนาคารตามสัญญาดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดในวันที่ 2 กันยายนซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 2 กันยายน ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชีเสียก่อนที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายใช้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ แต่หลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้วสิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดที่เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงถือเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้และเมื่อโจทก์มิได้แสดงอัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่จำเลยหลังสัญญาสิ้นสุดให้ชัดเจนจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่สูงกว่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของบริษัทเช่าซื้อ, การแปลงสภาพบริษัท, และดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สิน ตามวัตถุประสงค์ข้อ (1) ถึง (4) ในหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจึงอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ และธุรกิจของโจทก์หาใช่ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังบทนิยาม "ธุรกิจเงินทุน" ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ไม่ การดำเนินธุรกิจของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อนุญาตให้บริษัทเอกชนคือบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดได้ และบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรสภาพมานั้นย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเอกชนเดิมทั้งหมด เมื่อโจทก์ ซึ่งเดิมเป็นบริษัทเอกชนทำหนังสือมอบอำนาจให้นายส. ลงนามในสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินของบริษัทแทนบริษัทได้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิด สิทธิและความรับผิดอันโอนไปยังโจทก์ซึ่งแปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชน และเมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังอยู่ในกำหนดเวลา ส.จึงยังคงมีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องอ้างเหตุมูลหนี้อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ มิใช่เรียกร้องมูลหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมเงิน เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา หาใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือขัดต่อพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธุรกิจเช่าซื้อไม่เข้าข่ายธุรกิจเงินทุน, อำนาจลงนามหลังแปรสภาพบริษัท, ดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สิน การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จึงอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ และธุรกิจดังกล่าวของโจทก์มิใช่ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแยกประเภทไว้ ดังบทนิยาม "ธุรกิจเงินทุน" ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อนุญาตให้บริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดได้ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการแปรสภาพก็หมดสภาพจากการเป็นบริษัทจำกัดตามมาตรา 184 แต่มาตรา 185 ยังคงรับรองถึงความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทจำกัดที่หมดสภาพด้วยการแปรสภาพใหม่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่แปรสภาพมานั้นย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สินหนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทจำกัด การที่บริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. ลงนามในสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินแทนได้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดสิทธิหรือความรับผิดอันโอนไปยังโจทก์ซึ่งแปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ช. จึงยังคงมีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องอ้างมูลหนี้อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1ทำกับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน มิใช่เรียกร้องมูลหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมเงิน เมื่อสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด และโจทก์เรียกดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9223/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, การบอกเลิกสัญญา, และการคิดดอกเบี้ยทบต้น: หลักเกณฑ์ตามกฎหมายและสัญญา
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นสุดของเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยก็มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้ผู้ให้กู้มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินเดิมเป็นต้นเงินใหม่ได้ทันที แต่มิได้ให้สิทธิผู้ให้กู้ที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้ เมื่อสัญญายังไม่เลิก ผู้ให้กู้จึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยอ้างเหตุผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหาได้ไม่
ผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปยังผู้กู้กำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และผู้กู้ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 เดือนเดียวกัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาเลิกกันยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนด แต่ยังมีการเดินบัญชีตลอดมา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีผลอยู่ โดยไม่มีกำหนดเวลา การที่ผู้ให้กู้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้โดยผู้กู้มิได้ผิดสัญญา จึงเป็นกรณีที่ผู้ให้กู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ให้กู้ย่อมไม่มีสิทธิอ้างบันทึกข้อตกลงที่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาได้
สัญญารับชำระหนี้ที่ผู้กู้ทำให้ไว้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักฐานในการรับจะชำระหนี้ มิใช่สัญญากู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร สัญญารับชำระหนี้ดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
แม้สัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับจะมีผู้ค้ำประกันเกินกว่าหนึ่งคน แต่เป็นการร่วมกันค้ำประกันในภาระหนี้รายเดียวกัน การปิดอากรแสตมป์แต่ละฉบับเพียง 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของบริษัทเช่าซื้อ, หนังสือมอบอำนาจหลังแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน, และดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สิน ตามวัตถุประสงค์ข้อ (1) ถึง (4) ในหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจึงอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ และธุรกิจของโจทก์หาใช่ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแยกประเภทได้ดังต่อไปนี้........ดังบทนิยาม "ธุรกิจเงินทุน" ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ไม่ การดำเนินธุรกิจของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 อนุญาตให้บริษัทเอกชนคือบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดได้ และบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรสภาพมานั้นย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเอกชนเดิมทั้งหมด เมื่อบริษัท ส. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดิมก่อนแปรสภาพได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายส. ลงนามในสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินของบริษัทแทนบริษัทได้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิด สิทธิและความรับผิดอันโอนไปยังโจทก์ซึ่งแปรสภาพมาได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังอยู่ในกำหนดเวลา ส.จึงยังคงมีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องอ้างเหตุผลหนี้อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มิใช่เรียกร้องมูลหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมเงิน เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา หาใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือขัดต่อพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไม่
of 15