คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีรา ไวยหงส์ รินทร์ศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจ DNA ยืนยันความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตแล้ว
การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14232/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาในคดีทะเลาะวิวาทที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แม้ไม่สามารถระบุตัวผู้ลงมือได้โดยชัดเจน
กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครกระทำจนถึงแก่ความตายหรือจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แม้พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าคนใดในกลุ่มของจำเลยเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสก็ตาม ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 294 และ 299 พวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและผู้เสียหายได้ใช้มีดแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหาย จำเลยซึ่งมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานะเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือแทงผู้ตายและฟันผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12218/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการฟ้องคดีอาญา: การระบุความผิดในคำบรรยายฟ้องมีผลต่อการพิจารณาคดีและการอุทธรณ์
ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุเพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนของที่ดินพิพาทกับบริษัท ท. ผู้จะซื้อ โดยจำเลยทั้งสองปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจ ทำตราประทับปลอมนำมาประทับในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวอ้างแก่บริษัท ท. ทำให้โจทก์เสียหายโดยมิได้ระบุว่าหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 265 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 คงเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ดินที่ถูกสงวนเพื่อประโยชน์ของงานทาง: สิทธิของผู้ซื้อจากการบังคับคดี และความถูกต้องของการชำระเงิน
ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 65 ที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางโดยชอบได้นั้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครอง แต่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางในตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ที่ประกาศสงวนที่ดินริมทางหลวงหมายเลข 22 จำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตาราง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ซึ่งออกก่อนวันออกประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวกว่า 13 ปี ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ยังไม่เสียไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมได้สิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ไปทั้งแปลง ซึ่งได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้ว
ตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดระบุว่า "เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้ารับซื้อไว้เท่านั้น การกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาวและการบอกประเภทที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดนั้น เป็นแต่กล่าวไว้โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ดินจะขาดหรือเกินไปหรือบอกประเภทของที่ดินผิดไปประการใดก็ดี ไม่ถือว่าเป็นข้อที่จะทำลายสัญญาซื้อขายนี้ได้" แม้แขวงการทางจะคัดค้านการรังวัดที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องต่อสู้กับกรมทางหลวง เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและจ่ายให้จำเลยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถูกต้องตามขั้นตอนการบังคับคดีแพ่ง ไม่เป็นลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11149/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขับขี่ที่ก่อเหตุแล้วไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและหลบหนี มีองค์ประกอบความผิดฟ้องได้
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ว่า ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถในทางและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว มิได้หยุดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บตามสมควร และมิได้นำเหตุที่เกิดไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีโดยจำเลยหลบหนีไป และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 160 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า มิได้หยุดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บตามสมควร โดยไม่ได้บรรยายว่าหยุดอะไรนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นแล้วว่า จำเลยเป็นผู้ขับขี่รถในทางและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยมิได้หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี จึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10616/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษทางอาญา: ศาลอุทธรณ์ปรับลดโทษและวรรคของบทความผิด จำเลยฎีกาไม่ได้ในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148, 157 ประกอบมาตรา 86, 83 และมาตรา 337 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 86, 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 10 ปี กับให้จำเลยใช้เงิน 70,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นการปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืน หรือจูงใจให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองหรือผู้อื่น และระบุวรรคในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 เป็นการแก้ไขเพียงแต่ปรับบทกำหนดโทษและปรับวรรคของบทความผิดให้ถูกต้อง โดยมิได้แก้ฐานความผิดแต่อย่างใด แม้จะแก้โทษด้วยก็ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การฟ้องขอเปิดทางเมื่อที่ดินถูกล้อมรอบ และการชดใช้ค่าทดแทนที่เหมาะสม
การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่า การแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้
ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้น ต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระเป็นเงิน 420,000 บาทแล้ว จำเลยฎีกาขอให้ชดใช้เป็นเงินจำนวนตามที่ขอในฟ้องและชำระค่าขึ้นศาลเต็มจำนวนดังกล่าวมา อันเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมาให้แก่จำเลย
??
??
??
??
1/1