คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาย พันธุมะโอภาส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9839/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมให้เด็กเล่นเกมช่วงกลางคืนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเข้าข่ายขัดขวางพัฒนาการเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก การที่จำเลยซึ่งทำงานเป็นผู้ดูแลและเก็บค่าบริการของร้านเกมชื่อ ร้านท้อปเกม ยินยอมให้ ว. อายุ 15 ปี และ ณ. อายุ 16 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เข้าเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในร้านที่จำเลยดูแลในเวลา 2 นาฬิกาโดยเก็บเงิน 20 บาท ต่อการเล่นเกม 3 ชั่วโมง แม้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นการนันทนาการ ไม่ใช่กีฬาตามที่จำเลยฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ อันมีลักษณะใกล้เคียงกันจึงต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าซึ่งในเวลาเช่นนั้นบุคคลทั้งสองต้องพักผ่อนหลับนอนเพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามวัยอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของ ว. และ ณ. ตามมาตรา 26 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9473/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าไฟฟ้าค้างชำระ: โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ แม้ความผิดพลาดเกิดจากพนักงานโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร - 6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45 - 51 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้คำนวณกระแสไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนังสือบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เข้ามาครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาดไป ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าความจริง เหตุเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) โจทก์ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องได้เป็นเงิน 340,879.50 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าที่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2545 จำนวน 86,767 บาท โจทก์ได้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้มาแล้วและเงินที่ชำระให้ตามสัญญาค้ำประกันมาหักออกจากจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว คงเหลือหนี้ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระ 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,915.73 บาท คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียด และคำขอบังคับโดยแจ้งชัดพอที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์หาต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ไฟที่แท้จริงในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พยานโจทก์สามปากซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์ได้จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ายี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ที่โจทก์นำมาเปลี่ยนให้กับจำเลยที่ 1 ใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 427,646.50 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วย โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความจริงได้ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535
ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9161/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่
ก. กับ จำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาแต่งตัวแทนและนายหน้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันไว้หลายประการอันรวมถึงข้อตกลงที่กำหนดให้ ก. ในฐานะตัวการต้องเปิดบัญชีทดลองจ่ายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนใช้จ่ายในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์การที่ ก. กับจำเลยที่ 1 มาตกลงกันใหม่ โดยกำหนดให้ ก. ต้องเปลี่ยนระบบการชำระหนี้อันเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์จากระบบ พี/เอ็น มาร์จิ้นเป็นระบบ แคช มาร์จิ้น จึงเป็นเพียงการตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข การชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและนายหน้า หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ที่ไม่ใช่ของเจ้าหนี้: ฎีกานอกประเด็นและไม่เป็นสาระต่อคดี
ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของต้นยางพาราที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ต้นยางพาราพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องถูกห้ามยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ประกอบ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 25 จึงเป็นฎีกานอกคำร้องและนอกประเด็น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 (ลุง ป้า น้า อา) แม้บิดาผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตั้งผู้จัดการมรดก
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมลายมือชื่อเบิกถอนเงิน ความรับผิดของธนาคาร และดอกเบี้ย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง จึงมีผลให้ในการฎีกา โจทก์ต้องกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดเช่นเดียวกับในชั้นอุทธรณ์ ข้อความที่โจทก์บรรยายมาในฎีกา ถือเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว จึงเป็นฎีกาที่ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องอ้างเหตุขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
คำร้องคัดค้านการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยอ้างว่าการดำเนินการเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, 197, 212 ประกอบมาตรา 211 เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับชำระค่าปรับ จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ศาลจะต้องส่งคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ร้องทุกข์เอง หากไม่ใช่ ผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินของ ฮ. และเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไป การกระทำที่โจทก์กล่าวหานี้เกิดขึ้นขณะที่ ฮ. ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำต่อ ฮ. เจ้าของทรัพย์ ฮ.จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 (1) ประกอบมาตรา 2 (7) แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งให้ ฮ. เป็นผู้เสมือนคนไร้ความสามารถ แต่ ฮ. ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ ประกอบกับ ฮ. มิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฮ. มีอำนาจจัดการแทนได้ตามมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้และถือเท่ากับว่ายังไม่มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4314/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องปล่อยตัวผู้ต้องขัง: แม้ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ ผู้ถูกคุมขังก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 90 (5) เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกคุมขัง เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้อง แม้ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกคุมขังเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในกรณีนี้ไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์/ปลอมแปลง/ฉ้อโกงบัตรเครดิต: การส่งมอบบัตรเครดิตทางไปรษณีย์ไม่ถือเป็นการส่งมอบให้ผู้กระทำผิดโดยสำคัญผิด
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งมอบบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริตเป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิด 2 กรรม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 11