คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาย พันธุมะโอภาส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากการประมูลงานก่อสร้างที่ยังไม่ได้เริ่มงาน และการยินยอมของลูกหนี้
แม้ขณะจำเลยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้อง จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ชนะการประมูลงานรับเหมาก่อสร้างได้ โดยยังมิได้ทำสัญญาจ้างและเริ่มทำงาน ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างเมื่อทำงานเสร็จแล้ว สิทธิดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และเมื่อ ป. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า "ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่วแล้ว" พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตรา ถือว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีข่มขืนขาดอายุความ ผู้เสียหายไม่แจ้งความเกิน 3 เดือน ศาลฎีกายกฟ้อง
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 และเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2539 ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยให้การเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ดังนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจนถึงวันที่ผู้เสียหายมาให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาเกิน 3 เดือนแล้ว และระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายรวมทั้งผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเลย คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ปัญหาคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7240/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานขัดแย้ง การรับฟังพยาน การกระทำชำเราเด็ก ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
แม้ชั้นพิจารณา โจทก์จะมีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยไม่เคยเอาอวัยวะเพศจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อถอดกางเกงของผู้เสียหายออกมาดูอวัยวะเพศ ไม่มีรอยช้ำบวมก็ตาม แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายซึ่งได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นาน โดยผู้เสียหายให้การต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ คำให้การของบุคคลทั้งสามต่อเนื่องเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุผล นอกจากนี้ ยายผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่เบิกความแตกต่างจากที่ให้การไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นลุงผู้เสียหายได้รับโทษจำคุก ทั้งจำเลยได้ชดใช้เงินให้จนฝ่ายผู้เสียหายพอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย เชื่อว่าผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวไม่ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น แม้ไม่มีการแบ่งมรดก
ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่าทายาทคนนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7057/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเก็บรักษาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง และผลของการทำพินัยกรรมโดยพี่น้องร่วมบิดามารดา
ป.พ.พ. มาตรา 1662 กำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บรักษาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า ตามปกติจะต้องเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะเก็บรักษาเอง กรมการอำเภอก็ต้องส่งมอบให้ แต่ก่อนส่งมอบพินัยกรรมคืนกรมการอำเภอจะต้องคัดสำเนาไว้พร้อมลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ แล้วเก็บสำเนาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ ได้ความจาก ด. เจ้าพนักงานปกครอง 7 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า สำเนาสมุดทะเบียนพินัยกรรม ในช่องผู้ซึ่งได้รับมอบพินัยกรรมไป ระบุว่า พินัยกรรมของ พ. และ ส. ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมกลับไปในวันเดียวกับที่ทำพินัยกรรม หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมการอำเภอถ่ายสำเนาพินัยกรรมและเก็บสำเนาพินัยกรรมไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ และมอบต้นฉบับพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของ พ. และ ส. ผู้ทำพินัยกรรมว่าต้องการจะรับพินัยกรรมกลับไปเก็บไว้เอง และเจ้าพนักงานกรมการอำเภอได้คัดถ่ายสำเนาพินัยกรรมดังกล่าวเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามป.พ.พ. มาตรา 1662 แล้ว การที่พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้เก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1662 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามกรมการอำเภอเปิดเผยต้นฉบับหรือสำเนาพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนการที่ผู้ทำพินัยกรรมขอรับพินัยกรรมกลับคืนไป แล้วนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามไว้ คดีนี้ไม่ปรากฏว่ากรมการอำเภอได้เปิดเผยพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่นทราบ ส่วนการที่ผู้รับพินัยกรรมจะทราบข้อความในพินัยกรรมจากผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มิได้ถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไม่มีเนื้อความระบุว่าหากฝ่ายใดไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย อีกฝ่ายก็จะไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นั้น พ. และ ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ต่างไม่มีสามีและบุตร การที่บุคคลทั้งสองมีเจตนาตรงกันและยกทรัพย์สินบางส่วนของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อตนถึงแก่ความตายไปก่อน หาใช่เป็นการทำพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมจึงจะมีผลแต่อย่างใดไม่ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดเจตนา + บันดาลโทสะ: เหตุยกเว้นความรับผิดอาญา
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการสิ้นสิทธิเรียกร้อง กรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และโจทก์ละเลยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์คดีดังกล่าวเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมบางส่วน ซึ่งจำเลยที่ 2 จะจัดการโอนให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เป็นข้อตกลงที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ร้องต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การที่ผู้ร้องไปดำเนินการเพียงขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน แต่ขอให้รอเรื่องไว้ก่อนโดยไม่ยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินตลอดมา จึงยังถือไม่ได้ว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่ใช่ผู้ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4679/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเรื่องข้อเท็จจริง, อำนาจสอบสวนคดีปลอมเอกสาร, และการฟ้องคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน
แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยเพียงว่า "รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว" แต่เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยอีก กลับส่งสำนวนมาศาลฎีกาโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในคดีนี้ แม้ศาลฎีกายกฟ้องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำในศาล ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยปลอมหรือใช้คำสั่งศาลปลอมหรือไม่ จำเลยจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีความผิดในคดีนี้หาได้ไม่
จำเลยปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้ง ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมดังกล่าวไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นซึ่งศาลชั้นต้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน เมื่อขณะนั้นยังไม่แน่ว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาลดังกล่าว และการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และเหตุที่จำเลยปลอมคำสั่งศาลชั้นต้นและ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) ด้วยแล้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้เสียหายที่สามารถร้องทุกข์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลชี้ขาดเรื่องรวม/แยกขายทรัพย์สินบังคับคดีเป็นที่สุด ห้ามอุทธรณ์/ฎีกา
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแบ่งที่ดินที่ยึดออกเป็น 3 แปลง ตามสภาพที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง แล้วแยกขายทีละแปลง ในวันไต่สวนจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ได้ตรวจคำร้อง คำคัดค้านของโจทก์และคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 4 จึงให้งดไต่สวน แล้วให้คู่ความรอฟังคำสั่ง จากนั้นได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 อันเป็นคำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาด จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสองแล้ว ปัญหาที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 4 ก่อนมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว และไม่มีคำสั่งให้เลื่อนคดีตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 4 เป็นการไม่ชอบนั้น ล้วนเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่การโต้แย้งว่าคำสั่งชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดซึ่งเป็นที่สุดแล้วไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด: ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต่อการชำระค่าจ้าง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าจ้างโดยบรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญารับจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงติดตั้งต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ระบุเงื่อนไขในการทำงานและได้รับค่าจ้างตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะว่าจ้างช่วงหรือให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประสานงานให้จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ กับตรวจรับมอบงานแทนจำเลยที่ 1 และเบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 มามอบให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เห็นได้ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่
of 11