คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาย พันธุมะโอภาส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2998/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต้องมีเหตุสุดวิสัย การป่วยของผู้ร้องที่ไม่แจ้งก่อนกำหนดไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ป่วยด้วยโรคไต ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้ทนายโจทก์ไม่อาจมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ดังกล่าวได้ ส่วนที่ทนายโจทก์อ้างอีกว่า หากโจทก์ต้องการจะยื่นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการคาดคะเนของทนายโจทก์ทั้งสิ้น จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมายและการไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีเพิกถอนการขายทอดตลาดและเรียกค่าเสียหาย
ค้ำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายและเช่าที่ดินพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากเจตนาลวง โดยมีเจตนาให้จำเลยและนางสุพรมีที่ดินอยู่อาศัยร่วมกัน
สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งจึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว และการปรับบทมาตรา 86
การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน แม้จะเป็นการรับรองในวันเดียวกัน พร้อมๆ กัน และมีเจตนาที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนต่างด้าว 7 คน ในเวลาเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำให้แก่คนต่างด้าวแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ยกเลิกความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องว่า จำเลยสนับสนุนในการที่คนต่างด้าวกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และไม่ปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 264, 267, 268, 83 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งโจทก์และจำเลย การไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ถือเป็นข้อผิดพลาดทางกระบวนพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดโทษให้จำเลย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยหรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) ศาลฎีกามีอำนาจให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐาน แม้สำเนาไม่ติดแสตมป์ แต่ต้นฉบับติดแสตมป์แล้ว ย่อมใช้ได้
ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิด ดังนั้น แม้สำเนาสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นฉบับภาพถ่ายที่โจทก์แนบมาเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องจะไม่ปรากฏการปิดแสตมป์ แต่เมื่อต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์มาก่อนแล้วขณะโจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล จึงย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งนี้ โดยโจทก์ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ปิดแสตมป์อีก เพราะมิใช่เป็นกรณีขออนุญาตปิดแสตมป์ภายหลังอ้างส่งเอกสารเป็นพยานโดยเอกสารนั้นยังไม่ได้ปิดแสตมป์ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดหุ้นส่วน เลิกหุ้นส่วน ชำระบัญชี การฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์ก่อนชำระบัญชีไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงเข้าหุ้นกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์แบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1012 อันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วน เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าผลกำไรที่ได้รับจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะต้องจัดการขอให้มีการเลิกหุ้นส่วนเพื่อชำระบัญชีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1055 ถึง 1063 ก่อน เมื่อการชำระบัญชีไม่ถูกต้องอย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยยังไม่มีการชำระบัญชีไม่อาจกระทำได้ และโจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เช่นกัน ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่ม เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะคัดค้านต่อศาลฎีกาได้
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้อธิบายถึงเหตุขัดข้องไม่อาจแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า และการรอการลงโทษในคดีเยาวชน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80, 83 จำคุก 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายได้ ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่าจะเกิดขึ้น มิใช่เพียงแค่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสองขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองไถลไปตามไหล่ทางที่มีหญ้าขึ้นปกคลุม และได้รับบาดแผลถลอกเป็นส่วนใหญ่ คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 2 ที่นิ้วมือขวาฉีกด้วยเท่านั้น จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น
แม้จำเลยจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดโดยรอการลงโทษให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าจับกุมและการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน การกระทำที่เข้าข่ายต่อสู้หรือไม่
สิบตำรวจเอก ป. แจ้งข้อหาจำเลยว่า เล่นการพนันจับยี่กีโดยเป็นคนเดินโพยฝ่ายเจ้ามือ จำเลยปฏิเสธ สิบตำรวจเอก ป. กับพวกรวม 5 คน จะเข้าจับกุม จำเลยไม่ยินยอมโดยสิบตำรวจเอก ป. มีรูปร่างใหญ่กว่าจำเลยมาก การที่จำเลยเดินหนีออกนอกร้านก๋วยเตี๋ยวจนสิบตำรวจเอก ป. กับพวกต้องใช้กำลังล็อกแขน กดหน้าจำเลยกับพื้นระเบียงเพื่อใส่กุญแจมือจำเลยในลักษณะไขว้หลัง ขณะจำเลยดิ้นรนขัดขืนเพื่อให้พ้นจากการถูกควบคุมตัวเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด ซึ่งแม้ในการดิ้นรนของจำเลยจะเป็นเหตุให้มือของจำเลยไปโดนหน้าอกของสิบตำรวจ ป. เกิดเป็นรอยถลอกขนาดเล็กก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าว ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนำสิทธิ/ค้ำประกัน: สัญญาจำนำสิทธิที่มีข้อความระบุความรับผิดทั้งฐานจำนำและฐานค้ำประกัน ทำให้ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชอบหนี้
แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำ แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคาร ม. หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคาร ม. อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคาร ม. จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคาร ม. และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีความชัดเจนโดยธนาคาร ม. มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณี และจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ม. ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ไม่
of 11