คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 11

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9137/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาฐานความผิดและโทษ, การลดโทษ, และการรอการลงโทษในคดีทรัพย์สินทางปัญญา, คนเข้าเมือง, และการทำงานของคนต่างด้าว
การที่จำเลยเป็นคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านตามช่องทาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 11 กับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มิได้ยื่นรายการตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และ 12 (1) เป็นความผิดในบทมาตราเดียว ทั้งเป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นเจตนาเดียวกัน มิใช่การกระทำโดยเจตนาต่างกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
การที่จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 เป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจตนาอีกเจตนาหนึ่งไม่ใช่เจตนาเดียวกันกับเจตนาที่เข้ามาในราชอาณาจักร การอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทลงโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและเวลาตามกฎหมาย และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ส่วนมาตรา 81 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักกว่าและในการพิพากษาลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ศาลต้องกำหนดโทษจำคุกเสมอ การที่ศาลวินิจฉัยว่าบทกฎหมายทั้งสองมาตรามีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ปรับเพียงสถานเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้จำเลยเพียงแต่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในคดีก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบในข้อนี้ และเมื่อในคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7592/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษคดียาเสพติด: ลดโทษกึ่งหนึ่งก่อนแล้วจึงลดโทษหนึ่งในสามตามกฎหมาย
ความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งจะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 เสียก่อน เมื่อคำนวณแล้วจะเหลือโทษจำคุก 25 ปี และเมื่อลดโทษให้อีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงเหลือโทษจำคุก 16 ปี 8 เดือน หาใช่ 33 ปี 4 เดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การพิจารณาความชัดเจนของคำฟ้องและการลงโทษ
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 22 เม็ด ตามคำฟ้องข้อ 1 ข แยกกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำฟ้องข้อ 1 ค ก็ตาม แต่คำฟ้องข้อ 1 ค โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนหน่วยการใช้และปริมาณน้ำหนักสารบริสุทธิ์ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเท่ากัน ทั้งโจทก์ได้อ้างบทมาตราขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5221/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ประเด็นการอุทธรณ์ฎีกาเฉพาะบางความผิด, ยอมรับข้อเท็จจริงโดยปริยาย, และการไม่กำหนดโทษกระทงความผิด
จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีความผิดตามคำฟ้อง แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้อง เมื่อเนื้อหาในอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยมาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ และในชั้นฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาขอให้ยกฟ้องแต่ก็มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้คลาดเคลื่อนไปหลายประการ รวมทั้งศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยที่ 1 สูงเกินไป แต่ตามฎีกาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนกลางประสานให้ฝ่ายผู้ล่อซื้อและฝ่ายผู้ขายได้บรรลุผลสำเร็จในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพียงแต่จำเลยที่ 1 โต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 ได้พาคนของฝ่ายผู้ซื้อไปชี้จุดที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้นโดยที่เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่เคยอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เลย ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำขอท้ายฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบา โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขอให้ยกฟ้องด้วยแล้วเท่ากับว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับมาในฎีกาโดยปริยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าผู้ล่อซื้อจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาด้วย ถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในสถานเบาสำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เท่านั้น
เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ตามคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันแล้ว ศาลจะต้องพิพากษากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวมาด้วย ส่วนเมื่อรวมโทษกับความผิดกระทงอื่นแล้ว จะลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวและเรียงกระทงลงโทษมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องด้วยวาจาต้องแจ้งบทมาตราความผิด หากไม่แจ้งฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้มิได้ระบุว่าโจทก์ขอให้ลงโทษตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย ซึ่งแสดงว่าฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มิได้มีการแจ้งต่อศาลถึงบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แม้การฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดดังกล่าวคงเป็นเรื่องการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็วเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวหาได้รวมไปถึงการอ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีเป็นหนังสือ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งโจทก์ต้องแจ้งต่อศาลเมื่อมีการฟ้องด้วยวาจาด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งต่อศาลชั้นต้นถึงบทมาตราแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ในขณะที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้ฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี ต้องมีคำสั่งชัดเจน การเพิ่มเติมโทษโดยไม่ได้รับการอุทธรณ์เป็นโมฆะ
การกักขังแทนค่าปรับ ตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ให้ถืออัตรา 200 บาท ต่อ 1 วัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้งก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ แม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไปก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ด้วย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 195 วรรคสอง, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกา, การลดโทษจำคุก, และการกักขังแทนค่าปรับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การฎีกาในปัญหาใดๆ ต่อศาลฎีกาย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป มีระวางโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 และเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้เบากว่านี้ได้
การกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ถึงแม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองและมาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวอยู่ในไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต: อำนาจอนุญาต, ช่องทางเข้าประเทศ, เอกสารประจำตัว
จำเลยเป็นคนต่างด้าวและเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต่อมาได้รับบัตรประจำตัวนักศึกษาพม่า (ชั่วคราว) ซึ่งออกโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจอนุญาตให้จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 35 อำนาจที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 34 เป็นของอธิบดีกรมตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีกรมตำรวจมอบหมาย ดังนี้ จำเลยจึงมีความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวมิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กับไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง