คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 141 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 49 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนตามอุทธรณ์ จำเป็นต้องยกคำพิพากษาเพื่อส่งกลับไปพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ ร. มีกำหนดเวลา 10 ปี และเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทั้งมีข้อตกลงว่า หากสัญญาสิ้นสุดแล้วให้ต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี แต่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้โจทก์ชำระค่าเช่า ส่งมอบที่ดินคืน และกลบที่ดินคืนสู่สภาพเดิม โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงวินิจฉัยสรุปความว่า สัญญาเช่าที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่มีผลบังคับ 10 ปี ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิม แม้จะกล่าวในตอนท้ายว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องหมายถึงประเด็นอื่นเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิมเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งที่ว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งให้ครบถ้วนตามอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้กล่าวหรือแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) แม้ศาลฎีกาแผนกคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา แต่เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้ ที่โจทก์ฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โฆษณาเกินจริง-ความรับผิดทางละเมิด: การร่วมกันฉ้อโกงผู้บริโภคและความรับผิดของแพทย์
จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการตัดสินใจรับผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการตรวจร่างกายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 และหากมีผู้เข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 จำนวนมากก็จะทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์จากค่าผ่าตัดเป็นจำนวนมากไปด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินโครงการร่วมกัน และจำเลยที่ 1 ในฐานะร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 ในการผ่าตัดศัลยกรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการด้วยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ก่อขึ้น ในส่วนของความรับผิดในการโฆษณาด้วยข้อความที่เกินความจริง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องอาจเป็นได้ทั้งละเมิดและสัญญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ กรณีต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำโฆษณาและคำรับรองของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เมื่อการโฆษณาและรับรองไม่ตรงกับความจริง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าผ่าตัดไร้รอยแผลเข้าลักษณะข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงอันเป็นกรณีจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 ถือได้ว่าดำเนินการโครงการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการด้วยข้อความเกินความจริง แต่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 ยังรับทำศัลยกรรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาตลอด ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเกินจริง จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษา: ข้อผิดพลาดเล็กน้อย vs. การวินิจฉัยจำเลยที่ 2 ที่ศาลยังมิได้ตัดสิน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยในส่วนวินิจฉัยรับฟังว่า จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ หลังจากทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ แล้วผิดนัดชำระเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้น มิได้วินิจฉัยถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย จึงไม่อาจแปลไปว่าได้วินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 แล้ว แม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยและพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 จะเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อันเป็นการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยศาลมิได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดนั้น จึงมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: จำเป็นต้องสอบคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งก่อนพิพากษา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พร้อมทั้งขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งการพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ จะถือว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพตามฟ้องเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15831/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายต่อทรัพย์สิน: กำหนดจำนวนเงินที่ถูกต้องตามจริงเพื่อป้องกันการได้รับประโยชน์เกินควร
โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กะบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รถยนต์คันนี้โจทก์ร่วมชำระเงินดาวน์และเงินผ่อนไป 196,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีภาษีอากร การแยกข้อหาฟ้อง และอำนาจฟ้องที่ยังไม่ถึงที่สุด
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 7 ฉบับ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลรวม 7 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสีย ค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาทั้ง 7 ข้อหา
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
การกำหนดให้คู่ความชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ชนะคดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ผู้แพ้คดีได้
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ให้แสดงเหตุแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ฉะนั้น เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นเรื่องในประเด็นแห่งคดีแต่ค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความต้องรับผิดตามมาตรา 161 มิใช่เรื่องในประเด็นแห่งคดี เพียงแต่มาตรา 141 (5) ให้มีคำวินิจฉัยตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมด้วยเท่านั้น ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินจากการซื้อขายโมฆะ และการเวนคืนที่ดิน ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเพื่อประโยชน์โจทก์
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายคำฟ้องด้วยว่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคำขอที่ศาลอาจพิพากษาให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการใช้สิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งถูกเวนคืนจากทางราชการ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดซึ่งเท่ากับให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไขให้ถูกต้องนั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: สัญญาที่ศาลวินิจฉัยโมฆะแล้วนำมาฟ้องอีก ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตามกฎหมาย
โจทก์เคยนำสัญญาที่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ใบอนุญาตให้ตั้งบ่อนการพนันและจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทชนไก่และกัดปลาที่จำเลยได้รับใบอนุญาตมาฟ้องต่อศาลในคดีก่อน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องกล่าวหาจำเลยว่าผิดสัญญาดังกล่าวและบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำที่รับไปจากโจทก์เพื่อให้ศาลวินิจฉัยคดีในประเด็นเดียวกันนั้นซ้ำอีก ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ระบุประเด็นอายุความ ทำให้ไม่อาจอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาส่งสำนวนคืน
คดีนี้เนื้อหาของคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงมีเพียงคำบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและ ค่าฤชาธรรมเนียมเท่านั้น หาได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องอายุความอันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิพากษาคดีได้ด้วยวาจาซึ่งไม่จำต้องจดแจ้งรายการแห่งคดีหรือเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ก็ตาม แต่ก็ต้องมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ด้วย มิฉะนั้นคู่ความย่อมไม่อาจอุทธรณ์ได้โดยชัดแจ้งเนื่องจากไม่ทราบว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีอย่างไร เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง จึงต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 และยังรับวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรง ต่อศาลฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในคดีล้มละลาย กรณีเหตุพิเศษและคำสั่งที่ไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ครบถ้วนตามประเด็นแห่งคดีอันเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141(5), 246
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า ลักษณะของจำเลยต้องด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายได้แล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเสียก่อน เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ศาลชั้นต้นต้องพิพากษาให้จำเลย ล้มละลายตามมาตรา 61 ทันที คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษา ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ภายหลังเมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงมิใช่ คำสั่งในระหว่างพิจารณา
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอคัดและถ่ายเอกสารรวมทั้งคำเบิกความพยาน เพื่อใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จนกระทั่งก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ 1 วัน และเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ ถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ถึงวันตามที่โจทก์ขออุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งได้ยื่นต่อศาลในวันดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดที่ศาลฎีกาขยายระยะเวลาให้ชอบที่จะรับอุทธรณ์ไว้ดำเนินการต่อไป
of 5