คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม. 9

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน vs. ร่วมลงทุน: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อคำพิพากษา
แม้จำเลยให้การรับว่าได้รับเงินโอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้งและพิมพ์คำว่า "ตกลง" ในโปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยเป็นการรับตามที่ปรากฏในฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์อ้างเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ (LINE) ซึ่งจำเลยรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบเช่นนี้จริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ (LINE) แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการกู้ยืมเงินจากข้อความสนทนาออนไลน์ ต้องมีน้ำหนักชัดเจนว่าเป็นการกู้ยืมจริง ไม่ใช่แค่การพูดถึงหนี้สิน
แม้ข้อความสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์และจําเลยที่ 1 เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจําเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ข้อความสนทนาตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอมีน้ำหนักฟังได้ว่า เงินจำนวน 7,800,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จําเลยที่ 1 ไปเป็นเงินกู้ยืม และไม่อาจถือเป็นหลักฐานกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่จําเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้แล้วหรือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 อันจะนํามาฟ้องร้องให้จําเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4249/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในคดีแรงงาน: การโต้แย้งดุลพินิจ vs. ข้อกฎหมาย และการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาจ้างระบุค่าจ้างไว้ชัดเจนว่า โจทก์ตกลงรับค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท จึงฟังได้ว่า โจทก์มีเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 60,000 บาท ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ค่าจ้างอีก 40,000 บาท จะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจ้าง แต่จำเลยตกลงจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล ตัวอย่างการชำระค่าจ้าง และใบสำคัญจ่ายเจ้าหนี้ เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารอื่นขึ้นโต้แย้ง อันเป็นอุทธรณ์ที่มุ่งประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยังได้รับค่าตอบแทนอื่นที่กำหนดจำนวนแน่นอนอีกเดือนละ 40,000 บาท ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ซึ่งจะต้องกระทำโดยลูกหนี้เองหรือโดยตัวแทนของลูกหนี้เท่านั้น บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีของจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นแล้วจัดเก็บอยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในฐานข้อมูลของจำเลย แม้โจทก์ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวของโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเป็นผู้จัดส่ง หรือแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีหรือลูกจ้างคนหนึ่งคนใดของจำเลย เป็นตัวแทนส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวไปยังโจทก์เพื่อเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้ให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ชำระหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความตามสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระจึงไม่สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เรียกค่าจ้างที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ด้วย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 จึงขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้กำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานพิจารณาสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน ซึ่งการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงนายจ้างอาจรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปได้เท่านั้น ยังต้องพิจารณาด้วยว่า นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกันและกลับไปทำงานร่วมกันโดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แทน ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนี้ศาลแรงงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างอื่นเกี่ยวกับลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ แต่ไม่ได้พิพากษาสั่งให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แสดงว่าศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานภาค 8 จะต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แทน การที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า ก่อนหน้านั้น จำเลยประสบปัญหาทางการเงินอย่างมากและมีการฟื้นฟูกิจการ จึงเห็นสมควรไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้คำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ อันเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว แต่ไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและศาลฎีกาไม่อาจกำหนดเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ และศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการทำงานของโจทก์ เวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการรับเงินโบนัส และการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ไม่ปรากฏในคำให้การและยังเป็นอุทธรณ์ที่มุ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์ เวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการรับเงินโบนัส และการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาปลดหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลผูกพันตามกฎหมาย แม้ไม่มีลายมือชื่อ การแสดงเจตนาผ่านเฟซบุ๊กถือเป็นหลักฐานหนังสือได้
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการกู้ยืมเงิน: หลักฐานการกู้ยืมจากบัตรกดเงินสดและผลผูกพันทางกฎหมาย
การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง