คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 55 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล: จำเลยเป็นผู้ขนส่งจริงหรือไม่
จำเลยตกลงรับขนสินค้าและเป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัท บ. ใบจองระวางเรือก็ปรากฏว่าเป็นแบบฟอร์มที่จำเลยจัดเตรียมให้แก่ผู้ส่ง โดยข้อตกลงในเรื่องการชำระค่าระวางที่กำหนดไว้ในใบตราส่งระบุว่า Freight prepaid แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้รับบำเหน็จค่าระวางเรืออันเนื่องมาจากการขนส่งสินค้านี้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยังเป็นนิติบุคคลอันมีวัตถุประสงค์คือประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในการที่จำเลยทำสัญญากับบริษัท บ. จำเลยก็ไม่ได้มีการแจ้งหรือสำแดงไว้แต่ประการใดว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งรายใด ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่ง ตามคำนิยามคำว่า "ผู้ขนส่ง" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนและผู้ขนส่งทางทะเลต่อการไม่ปฏิบิติตามสัญญาขนส่งและการชำระราคาสินค้า
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาตามป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจกรรมแยกต่างหากจากกันโดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยทที่ 3
ใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่า ผู้รับตราส่งคือตามคำสั่งธนาคาร ค. จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคาร ค. หรือตามคำสั่งของธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคาร ค. สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า, ข้อจำกัดความรับผิด, และการคำนวณค่าเสียหายตามน้ำหนักสินค้า
จำเลยเป็นเจ้าของเรือมาตุภูมิได้ดำเนินการขนส่งสินค้าร่วมกับบริษัทอาร์. โดยแบ่งหน้าที่และผลประโยชน์กัน จำเลยจึงเป็น "ผู้ขนส่ง" นิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ เพราะเข้าลักษณะของบุคคลที่ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติและร่วมกันเป็นฝ่ายที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ ดังนั้น เมื่อสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะอุณหภูมิไม่คงที่ในระหว่างการขนส่งในช่วงจากท่าเรือในเมืองสุราบายาถึงท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งมีความล่าช้าผิดปกติ จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายของสินค้าให้แก่โจทก์
พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพยานเอกสารที่ทำขึ้นก่อนเกิดข้อพิพาท เอกสารแต่ละฉบับมีรายละเอียดและจำนวนเงินระบุไว้อย่างมีเหตุผล เชื่อว่ารายการต่างๆ มีมูลค่าตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง อย่างไรก็ตาม น. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ให้ถ้อยคำว่าสินค้ารายพิพาทนี้เป็นราคาซีแอนด์เอฟคือราคาสินค้ารวมค่าระวาง ดังนั้น ค่าระวางรายการที่สองที่โจทก์เรียกร้องมาจึงรวมอยู่ในค่าสินค้ารายการที่หนึ่งด้วยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ซ้ำอีกได้ ส่วนค่าเสียหายรายการที่เหลือ เมื่อเป็นรายการที่โจทก์ได้จ่ายไปจริงและไม่ซ้ำซ้อนกับรายการอื่น จึงเป็นความเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ แต่เมื่อคดีนี้เป็นการเรียกร้องให้จำเลยผู้ขนส่งรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดไม่เกินกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักของสินค้าตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนสินค้าทางทะเล ไม่ใช่ผู้ขนส่งตามกฎหมาย
หลักฐานเอกสารที่โจทก์ระบุอ้างว่าได้มีการทำสัญญารับขนของทางทะเลนั้นเป็นเพียงตารางการเดินเรือที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาส่งให้โจทก์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะส่งสินค้าไปกับเรือหรือไม่ ในใบตราส่งซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลก็ไม่มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง แม้จะมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ระบุว่าได้ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งไว้ในฐานะเป็นตัวแทนผู้ขนส่ง นอกจากนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลผู้ขนส่งจะต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือ แต่จำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นบำเหน็จตัวแทนที่เกิดจากส่วนต่างของค่าระวางเรือที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์หักด้วยค่าระวางเรือที่จำเลยที่ 1 ได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับค่าระวางเรือไว้ในฐานะตัวแทนผู้ขนส่งก็ต้องส่งไปให้ตัวการซึ่งเป็นผู้ขนส่ง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเป็นตัวแทนนายหน้า จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการขนส่งของทางทะเลให้แก่โจทก์โดยรับค่าตอบแทนเป็นค่าบำเหน็จ หาใช่เป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าระวางเรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดจากการที่สินค้าพิพาทส่งไปไม่ถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล เมื่อสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของนิยามคำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นเพราะการออกใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ผูกพันจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวการ เท่ากับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลช่วงจากกรุงเทพมหานครไปสิงคโปร์ และการที่จำเลยที่ 3 ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าลงเรือของจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้านั้นต่อไปยังท่าปลายทาง เป็นการที่ผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 4 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตามคำนิยามใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ด้วย เมื่อสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น โดยมิใช่ความผิดของผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งอื่น จึงต้องร่วมกันรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวต่อผู้รับโอนใบตราส่ง ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 และมาตรา 43 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 และมาตรา 45
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับผู้ส่งของโดยตรงในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อผู้ส่งของโดยผลของกฎหมายคือ ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับโอนใบตราส่งโดยลำพังตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 และเมื่อจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อผู้รับโอนใบตราส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของตัวแทนผู้ขนส่ง: ตัวแทนไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้ขนส่งหากไม่ได้รับมอบหมาย
โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนของผู้ขนส่งในราชอาณาจักร เนื่องจากผู้ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงมอบให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการต่าง ๆ ที่ท่าต้นทางแทน โดยโจทก์จะได้รับบำเหน็จตัวแทนจากจำนวนค่าระวางที่ผู้ส่งชำระให้ โจทก์จึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 โจทก์เป็นตัวแทนสายการเดินเรือ ว. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่คู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลย ทั้งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจตัวแทนผู้ขนส่งฟ้องคดีแทนผู้ขนส่งได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยที่สายการเดินเรือ ว. มิได้มอบอำนาจให้ดำเนินการ จึงไม่มีอำนาจทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801(5) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้มีการกำหนดประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้ ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขนส่งทางทะเลต้องรับผิดชอบความเสียหายจากการไม่เวนคืนใบตราส่ง แม้จะมีการขนส่งหลายช่วง
พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเองในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ขนส่ง" หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเล เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้าย แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งแก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขนส่งทางทะเลต้องรับผิดต่อความเสียหายจากการไม่เวนคืนใบตราส่ง แม้จะมีการขนส่งหลายช่วง
พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเองในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า"ผู้ขนส่ง" หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเล เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้ายแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งแก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: การกำหนดหน่วยการขนส่ง, ข้อจำกัดความรับผิด, และการร่วมรับผิดของลูกหนี้
ใบตราส่งสินค้าตามฟ้อง แม้จะระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ก็ตาม แต่ก็ระบุว่าสินค้าของโจทก์บรรจุในกล่อง (Packages) จำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งตู้สินค้า (container) จำนวน 1 ตู้ ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน 7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายตามคำฟ้องว่ามีเพียง 2 หน่วยการขนส่งเป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ได้ 18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง จากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่ง เป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาท แม้สินค้าของโจทก์ที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและมาตรา 59 (1) และเมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาท แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดหน่วยการขนส่งทางทะเลตามใบตราส่ง และข้อจำกัดความรับผิดของผู้นำของเข้า
การวินิจฉัยเกี่ยวกับหน่วยการขนส่งจะต้องวินิจฉัยจากใบตราส่งว่าระบุจำนวนลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้อย่างไรการที่ใบตราส่งสินค้าระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์1 ตู้แต่ก็ระบุว่าสินค้ากระดาษทิชชูของโจทก์บรรจุในกล่องจำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ตู้สินค้าจำนวน 1 ตู้ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่ง ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้นจึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายมีเพียง 2 หน่วยการขนส่ง เป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมได้18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่งจากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่งเป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาทแม้สินค้าที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59(1)
of 6