คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ม. 11

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 116 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752-780/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-การทำงานนอกเวลาปกติ-การบังคับคดี-สิทธิเรียกร้องค่าเช่า: ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868-5869/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์: การบังคับใช้กฎหมายและอัตราดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องคดีนี้ ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิม และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 ด้วยเหตุว่าการชำระบัญชีดำเนินลุล่วงแล้วหลายส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยไว้แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551-1553/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักงานพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกกล่าวหาทุจริต สิทธิการรับค่าจ้างระหว่างพักงาน
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย ซึ่งตามหมวด 3 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า "ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงานธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึงได้รับหรือไม่อย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ" เมื่อต่อมากรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 575 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้" หมายความว่า ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากมีข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้ง และในระหว่างพักงานโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905-4927/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยโดยไม่ชอบตามกฎหมายและอายุความการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจรับโอนจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 ต่อมาโจทก์ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่จำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยมีบทเฉพาะกาลว่าพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง การที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ครบเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2536 โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับข้างต้นซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเพราะการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการได้รับมาในฐานลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีจำเลยยึดถือค่าชดเชยไว้โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิติดตามเอาค่าชดเชยคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยได้ตามมาตรา 406 โดยโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามมาตรา 419 เมื่อผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนฉบับข้างต้นประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การพิจารณาจากลักษณะการทำงาน แม้สัญญาจะระบุเป็นผู้รับจ้าง
ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ แต่เมื่อปรับบทกฎหมายตามข้อหาของโจทก์ดังกล่าวแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะพนักงานรัฐวิสาหกิจ & สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามระเบียบ คดีนี้ศาลแก้ดอกเบี้ยเป็น 7.5%
ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้อง และเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างจากจำเลย ซึ่งเมื่อปรับบทกฎหมายแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534
จำเลยจ้างโจทก์โดยทำสัญญาว่าจ้างมีกำหนด 1 ปี ให้เงินตอบแทนรวม 3,600,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นรายเดือน เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจ้างทำนองเดียวกันปีต่อปี โดยให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดพัฒนาระบบการจัดแผนดำเนินงานของทุกฝ่ายงาน และเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายพัฒนาบริการและการตลาด โจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสดและการอนุมัติค่าใช้จ่ายเฉพาะฝ่ายพัฒนาบริการและการตลาดเทียบเท่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทางปฏิบัติโจทก์มาทำงานที่ธนาคารจำเลยทุกวัน ทั้งในการทำงานจำเลยสั่งการถึงโจทก์และโจทก์สั่งการต่อไปยังพนักงานอื่นของจำเลยได้ด้วย โจทก์จึงมีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย แม้ตามสัญญาว่าจ้างกำหนดสถานะไว้ว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง โจทก์เป็นผู้รับจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ดังเช่นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะได้รับ โจทก์ไม่ต้องมีบัตรพนักงาน โจทก์ไม่เคยถูกประเมินผลงานหรือได้รับการปรับเงินเดือนรายปี ทั้งโจทก์ไม่มีรายชื่อในฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยด้วยนั้น เป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์แตกต่างจากพนักงานอื่น ยังไม่พอที่จะถือว่าโจทก์มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มจากจำเลยโดยอ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่เนื่องจากจำเลยมิได้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ ทั้งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ก็มิได้มีข้อใดกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่ม กรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจชอบด้วยกฎหมายเมื่อประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และมีกฎหมายรองรับ
รัฐวิสาหกิจเป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้ภาครัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปเพิ่มวงเงินสดที่มีเพื่อใช้ในการลงทุนซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนที่เบิกจ่ายได้จริงมีจำนวนสูงขึ้น และรัฐวิสาหกิจยัง ไม่ได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่พนักงานประกอบกับ พ.ร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มาตรา 33 บัญญัติให้พนักงานของจำเลยได้รับเงินโบนัสตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้นคณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ซึ่งรวมทั้งพนักงานของจำเลยลงได้ การที่จำเลยปรับลดเงินโบนัส ประจำปี 2541 ของโจทก์ในอัตราร้อยละ 30 ของเงินโบนัสที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9381-9407/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจรัฐวิสาหกิจแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้าง และการจ่ายเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรี
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จึงต้องห้ามมิให้นำพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับแก่โจทก์และพนักงานหรือลูกจ้างของโจทก์ตามมาตรา 4 (4) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ ได้รับความยินยอมหรือต้องเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแต่อย่างใด ประกอบกับพ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1), 18 (1) (3) และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 49 ให้อำนาจรัฐวิสาหกิจแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารพนักงาน ฐานะ ความรับผิดชอบ ความสามารถของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผลกระทบต่อการบริการประชาชนเป็นสำคัญหาจำต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานหรือลูกจ้างไม่ แม้ในมาตรา 54 วรรคสอง จะกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องบริหารงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลและต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้โดยมีผลเป็นการแก้ไขและบังคับใช้ตั้งแต่วันลงมติ ส่วนที่มติดังกล่าวกำหนดให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย ก็เพียงเพื่อให้ปรากฏการแก้ไขในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หาได้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้มติคณะรัฐมนตรีไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ สิทธิของจำเลยจะได้รับเงินบำเหน็จเพียงใดต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8926/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าล่วงเวลาของพนักงานรัฐวิสาหกิจงานขนส่ง: ไม่มีสิทธิหากนายจ้างไม่ได้ตกลงจ่าย
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายประกอบกิจการงานขนส่งเดินรถโดยสารประจำทาง โจทก์เป็นพนักงานประจำรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถจึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานขนส่ง ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 28 กำหนดว่า พนักงานที่ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และ 26เว้นแต่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน แม้จำเลยมีคำสั่งเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงพิเศษและอัตราเงินส่วนแบ่ง ให้พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษเนื่องจากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานตามปกติและได้รับเงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วที่จำหน่ายได้ก็ตามแต่คำสั่งดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสาร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8926/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าล่วงเวลาพนักงานรัฐวิสาหกิจขนส่ง: ต้องมีข้อตกลง จ่ายเบี้ยเลี้ยง/ส่วนแบ่ง ไม่ถือเป็นค่าล่วงเวลา
แม้ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ข้อ 25 และข้อ 26 จะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือทำงานในวันหยุดเกินเวลาปกติของวันทำงานก็ตาม แต่ข้อ 28 ก็กำหนดว่าพนักงานที่ทำงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 25 และข้อ 26 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงาน
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายประกอบกิจการงานขนส่งเดินรถโดยสารประจำทาง โจทก์เป็นพนักงานประจำรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถ จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานขนส่ง และแม้จำเลยมีคำสั่งเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงพิเศษและอัตราเงินส่วนแบ่งให้พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษเนื่องจากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานปกติและได้รับเงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วที่จำหน่ายได้ก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสารโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
of 12