พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และอำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยประเด็นความสงบเรียบร้อย
คำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมของบริษัท พ. และมีผลให้บริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้ กับมีคำขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และมีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มีผลเท่ากับเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ในเรื่องเดียวกันที่ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีที่ไว้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ปัญหาที่ว่าคำร้องของจำเลยที่ 3 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8316/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลมีอำนาจสั่งวางเงินประกันและยกคำร้องหากไม่ปฏิบัติตาม
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงกรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง โดยอนุโลม มาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า "ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้... ฯลฯ... ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 4,000,000 บาท มาวางเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ภายในวันที่ 11 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 ดังนี้ คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปอีก
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า จะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า จะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งอนุญาตให้จ่ายเงินจากการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้พิพากษาคนแรกไม่อนุญาต เหตุจำเลยไม่วางเงินประกันตามกำหนด
จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 แล้วนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและมีคำขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ เป็นคำสั่งงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) โดยเหตุผลที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็เพื่อที่จะรอฟังผลการไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของจำเลยที่ 2 แล้วเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่วางเงินประกันภายในเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า มูลเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ย่อมสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรที่จะให้งดการบังคับคดีของโจทก์ไว้แล้วก็เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ตามคำร้องของโจทก์ได้ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่ประการใดไม่
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดี ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจกระทำได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (1) และมิใช่เป็นการเปลี่ยนผู้พิพากษาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้หรือไม่
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดี ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจกระทำได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (1) และมิใช่เป็นการเปลี่ยนผู้พิพากษาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลให้วางเงินประกันเพื่อคัดค้านการขายทอดตลาด หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คำสั่งยกคำร้องถือเป็นที่สุด
การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสองนั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 50,000 บาท ภายใน 15 วัน เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยโต้แย้งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3310/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่มีมูล ศาลสั่งวางประกันแล้วไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งศาลเป็นที่สุด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด คำร้องดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า "ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหาย เนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด" เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาวางเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนชั้นต้นกำหนด แต่กลับยื่นคำแถลงขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินประกันและมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 คำสั่งศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3310/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลให้วางเงินประกันเพื่อคัดค้านการขายทอดตลาด การไม่อุทธรณ์ตามมาตรา 223 และผลของการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่ได้แจ้งกำหนดวันเวลาขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า "ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด" ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาวางเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ภายใน 15 วัน จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่กลับยื่นคำแถลงขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินประกันและมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 2 คำสั่งศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ในการที่จะฎีกาต่อมาอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวางเงินประกันเพื่อคัดค้านการขายทอดตลาด: คำสั่งศาลยกคำร้องเป็นที่สุดและไม่อุทธรณ์ได้
การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวได้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 200,000 บาท ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แม้จำเลยจะนำเงินมาวางแล้วบางส่วนจำนวน 100,000 บาท และส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อไปอีกก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินอีก จำเลยก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการขายทอดตลาด: เจตนาวางเงินประกันและผลของการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด อ้างว่าราคาต่ำเกินสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ และจำเลยนำเงินมาวางแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือจำเลยขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อไปอีก แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินอีก จำเลยก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ที่มาตรา 309 ทวิ วรรคสาม ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม