คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (17)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทส่งผลต่อมูลค่าหุ้น โจทก์นำส่วนลดมาหักเป็นรายจ่ายภาษีไม่ได้จนกว่าจะขายหุ้นออกไป
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ที่บัญญัติมิให้นำค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินั้น มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้น ยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา
โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัท ล. โดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล การที่ต่อมาบริษัท ล. ลดทุนลงโดยลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่เพื่อลดผลขาดทุนสุทธิมีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง แต่กรณีนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วและมีผลขาดทุน เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไป จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่มีราคาต่ำลง" ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (1)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/50)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทและการหักค่าเสียหายทางภาษี การลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นไม่ถือเป็นรายจ่ายทางภาษีจนกว่าจะมีการขายหุ้นที่เหลือ
กรณีที่ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...(17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ..." นั้น มีเจตนารมณ์ห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้นยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ในกรณีนี้รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อหุ้นโดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผลจำนวน 16,119,840 หุ้น ในราคาตามมูลค่าหุ้น หุ้นละ 10 บาท โจทก์จึงมีมูลค่าทรัพย์สินในกรณีนี้คิดเป็นเงินจำนวน 161,199,400 บาท การลดทุนของบริษัท ล. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลง เพื่อนำไปลดผลขาดทุนสะสมของบริษัท ล. มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง ดังนั้น การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ลดลงนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไปทั้งหมด จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ตามกรณีพิพาทจึงเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง" ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8083/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งงดสืบพยานเมื่อพยานเอกสารเพียงพอ & การตีราคาสินทรัพย์/สินค้า (หุ้น) ทางภาษี
ในวันชี้สองสถานศาลภาษีอากรกลางได้ตรวจคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงของคู่ความตลอดจนพยานเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและให้คู่ความแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวแล้วจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงของคู่ความ และพยานเอกสารที่คู่ความส่งต่อศาลภาษีอากรกลางนั้นแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรอง และโจทก์บันทึกรายการซื้อหุ้นไว้ตามงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองไว้ จึงเพียงพอที่จะฟังยุติในอันที่จะวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทได้แล้วโดยไม่จำต้องให้พยานบุคคลมาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวอีก ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย
ในงบดุลหมวดสินทรัพย์ โจทก์ได้บันทึกรายการหุ้นไว้ในเงินลงทุนในสถาบันการเงินอื่น แยกออกจากสินทรัพย์หมุนเวียน หากโจทก์ต้องการซื้อหุ้นเพื่อขายในระยะสั้นอันถือเป็นสินค้า ก็ต้องบันทึกรายการหุ้นไว้ในสินทรัพย์หมุนเวียนโดยบันทึกเป็นรายการสินค้าคงเหลือด้วยการตีราคาสินค้าคงเหลือในวันที่ 31 มีนาคม 2541 อันเป็นวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ก็มิได้บันทึกรายการหุ้นไว้ในสินค้าคงเหลือแต่อย่างใด โจทก์ซื้อหุ้นธนาคาร ศ. มาจากบรรดาผู้มีชื่อแล้วถือไว้จนครบรอบระยะเวลาบัญชีในวันที่ 31 มีนาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ซื้อหุ้นธนาคาร ศ. อันเป็นการลงทุนในสถาบันการเงินอื่นหรือเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งโจทก์จะได้รับประโยชน์เป็นเงินปันผลในระยะยาว หุ้นธนาคาร ศ. ที่โจทก์ถือไว้นั้นจึงเป็นสินทรัพย์ โจทก์ต้องตีราคาหุ้นตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์นั้นมาตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (3) การที่โจทก์ตีราคาหุ้นให้ลดลงจากราคาที่ซื้อครั้งแรกตามผลจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นลดลง เข้าลักษณะเป็นค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง โจทก์ไม่สามารถนำมูลค่าหุ้นที่ลดลงมาถือเป็นรายจ่ายได้ เพราะต้องห้ามตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนรายจ่ายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
จำนวนเงินที่โจทก์ตัดเป็นรายจ่ายในการจัดตั้งบริษัทโจทก์ฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทดังโจทก์อ้าง ถือว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18)
โจทก์นำค่าเช่าปี 2508 และ 2509 มาลงจ่ายในปี 2510เมื่อปรากฏว่าโจทก์สามารถลงจ่ายในปีนั้นๆ ได้ มิใช่เพิ่งพบในปี 2510 ว่ายังมิได้จ่าย รายจ่ายค่าเช่าดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายซึ่งควรจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น และมิใช่กรณีที่ผู้จ่ายไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นได้ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิปี 2510 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9)
โจทก์ขายทรัพย์สินไปแล้วจ่ายเงินให้บริษัท ซ. ไปจำนวนหนึ่ง การจ่ายนี้เพื่อให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง มิใช่เป็นค่าทรัพย์สินของบริษัท ซ. ดังโจทก์นำสืบ รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15)
โจทก์ตัดหนี้สูญโดยมิได้ฟ้องร้องหรือตั้งอนุญาตโตตุลาการตามข้อเสนอของลูกหนี้ ทั้งส่อแสดงว่าเป็นการสมยอมกันลดกำไรสุทธิของโจทก์เพื่อให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง ถือว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติการโดยสมควร เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ก่อนการตัดหนี้สูญดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ(9) โจทก์จึงนำหนี้สูญนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิมิได้
โจทก์ได้ตัดบัญชีทรัพย์สินถังสองใบออกไปและถือราคาถังสองใบนั้นเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิด้วยแล้ว เมื่อความจริงโจทก์ยังมิได้ขายถังสองใบไป การตัดบัญชีถังสองใบย่อมมีผลทำให้การคำนวณกำไรสุทธิลดลงตามราคาถังสองใบนั้น จึงต้องห้ามมิให้ถือราคาถังนั้นเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(17)
โจทก์นำรายการที่ต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายมาหักเป็นรายจ่ายหลายรายการเป็นเงินจำนวนมาก บางรายการโจทก์อ้างข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนความจริงขึ้นโต้แย้ง มิใช่เพียงตีความกฎหมายไม่ตรงกับเจ้าพนักงานประเมิน พฤติการณ์ส่อแสดงว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จึงไม่มีเหตุงดเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22