คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 145

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,236 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12750/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดหลังมีคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด และข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ อันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.จัดปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เข้ารื้อถอนที่พักอาศัยของโจทก์และทำลายทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้
ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป และมาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นในคดีอาญาดังกล่าวพิพากษาลงโทษโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอาญาย่อมมีผลบังคับแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์หามีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว จึงขอให้บังคับแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นการบังคับคดีในคดีอาญาดังกล่าว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การพิสูจน์หนี้สินล้นพ้นตัว และผลของการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ถึงแม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 4 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าทนายความทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยปราศจากอำนาจ และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นมูลหนี้เดิมของคดีแพ่งดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี เริ่มนับจากวันมีคำพิพากษา ไม่ใช่เมื่อคดีถึงที่สุด
ในคดีแพ่งนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับซึ่งก็คือคำสั่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา กำหนดวิธีที่จะปฏิบัติ ระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่จำเป็น กับกำหนดวิธีบังคับ ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 272 โดยหากคู่ความฝ่ายที่ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในศาลในเวลาที่ศาลได้มีคำพิพากษา ศาลมีอำนาจออกคำบังคับและให้คู่ความฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยขาดนัดให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกคำบังคับอันเป็นขั้นตอนตามกฎหมายก่อนที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี โดยส่งคำบังคับไปให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี หากหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี จากนั้นต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดทั้งอายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิได้รับจากบุคคลภายนอก ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติในการร้องขอให้บังคับคดีไว้ จะเห็นได้ว่า หาได้บัญญัติให้ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ ซึ่งสอดคล้องรองรับกับบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 231 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้คำพิพากษาผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษานับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี และแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้บังคับคดี เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับและได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีนี้ระยะเวลาบังคับคดีภายในสิบปีต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยจำเลยขาดนัดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคือวันที่ 3 เมษายน 2553 ปรากฏว่า ผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้แล้ว จึงหามีเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกคำบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามคำแถลงของผู้เข้าสวมสิทธิไม่ อุทธรณ์ของผู้เข้าสวมสิทธิที่อ้างว่า คดีนี้ศาลพิพากษาโดยจำเลยทั้งสองขาดนัด จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ และผู้เข้าสวมสิทธิเพิ่งยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 147 วรรคสอง นั้น ไม่เป็นเหตุให้ระยะเวลาในการร้องขอให้บังคับคดีตามที่มาตรา 271 บัญญัติไว้เปลี่ยนแปลงไป เพราะระยะเวลาสิบปีในการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2558)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10492/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาต้องพิจารณาตามหลักการในคดีอาญา ไม่สามารถยึดตามคำพิพากษาคดีแพ่งโดยตรง
แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งจะผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองคดีนี้ ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแพ่งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เป็นการผูกพันเฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้ว คดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่ง ศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานหลักฐานของโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีของศาลแพ่งจึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ว่ามีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินของโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และของจำเลยทั้งสองในคดีนี้หาได้ไม่ การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำสั่งศาลหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด: ห้ามแก้ภาระความรับผิดนอกเหนือจากคำสั่งเดิม
คำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอของผู้ร้องย่อมผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียถ้าหากมี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 เมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองถึงที่สุดแล้ว และข้อที่ผู้ร้องขอแก้ไขคำสั่งของศาลขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 65,000,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการขอให้ศาลทำคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาระความรับผิดของจำเลย นอกเหนือไปจากคำสั่งของศาลซึ่งมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง กรณีมิใช่เรื่องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ที่จะเพิ่มเติมแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำต้องห้าม: ประเด็นสิทธิในที่ดินซ้ำกับคดีบังคับคดีก่อน ศาลฎีกายืนยกฟ้อง
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นข้อพิพาทเคยถูกวินิจฉัยเด็ดขาดแล้วในคดีก่อนจากการประนีประนอมยอมความ
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกับที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องจำเลยคดีนี้โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ชำระราคาค่างวดตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดิน 3 งวด แต่ละงวดชำระไม่ครบตามสัญญาและค้างชำระ 2,250,000 บาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบที่ดินที่เหลืออีก 20 ไร่ ตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่างวดที่เหลือ 780,000 บาท แก่จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา สิทธิเรียกร้องตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่หากเป็นเรื่องที่ต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งในคดีก่อนนอกจากโจทก์จะให้การว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว โจทก์ยังให้การเรื่องที่ดินที่เหลือตามสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าที่ดินอีก 20 ไร่ ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิและจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 732,000 บาท แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถหยิบยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนได้ เมื่อคดีก่อนโจทก์กับจำเลยประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยต่างไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก และได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีนี้ การที่โจทก์นำข้ออ้างที่สามารถหยิบยกเป็นข้อต่อสู้แก้คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงถือว่าคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนภาระจำยอมหลังมติถูกเพิกถอน & การฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ต้องมีคู่สัญญาเป็นจำเลยร่วม
แม้การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินสาธารณูปโภคและบริเวณสาธารณะตามโฉนดเลขที่ 2603 ที่จำเลยรับโอนมาจากบริษัท บ. ผู้จัดสรร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2346 ของบริษัท บ. ผู้จัดสรร จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมตินี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่รับโอนมาให้แก่ที่ดินของบริษัท บ. ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเสียแล้วสภาพแห่งคดีจึงไม่เปิดช่องที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ได้ และแม้จะอนุเคราะห์ให้ถือว่าคำขอของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมระหว่างจำเลยกับบริษัท บ. ก็ดี แต่การจะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์จำต้องฟ้องบริษัท บ. เจ้าของสามยทรัพย์ผู้เป็นคู่สัญญากับจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยด้วย ลำพังแต่เพียงฟ้องจำเลยเพื่อให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะคำพิพากษาย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของจำเลย โดยประกอบด้วยสภาพแห่งข้อหาหลายข้อด้วยกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช. พ้นจากตำแหน่งจากการเป็นกรรมการตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว การที่ ช. ในนามประธานกรรมการของจำเลยทำหนังสือเชิญประชุมและดำเนินการประชุมมีการลงมติในวาระต่างๆ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ อันนำไปสู่การบังคับตามคำขอของโจทก์ได้แล้ว การที่ยังจะต้องวินิจฉัยข้อหาอื่นเพื่อนำไปสู่การบังคับตามคำขอเดียวกันนี้อีกจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อหาที่เหลืออีก กรณีเช่นนี้หาใช่ว่าศาลไม่ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ หากโจทก์เห็นว่าข้อหาที่เหลือยังมีการกระทำที่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และความรับผิดทางละเมิด
แม้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กฎหมายจะให้อำนาจพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 ก็ตาม แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 249 ยังคงให้นำ ป.วิ.พ.มาใช้บังคับ ดังนี้ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ดังนี้ บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ผู้ร้องจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า มารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่ง ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และความรับผิดของบุคคลภายนอก
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการในการที่จะเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 249 ยังคงให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ ดังนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 เป็นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้
of 124