คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 175

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 99 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11986/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟ้องเท็จ: คุ้มครองกระบวนการยุติธรรมและสิทธิคู่ความ ศาลฎีกาไม่รอการลงโทษจำเลย
ความผิดฐานฟ้องเท็จ กฎหมายมิเพียงแต่จะคุ้มครองสิทธิของคู่ความในคดี แต่ยังมุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย เพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยคดีได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ และอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเสรีภาพ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฟ้องเท็จ: กรณีตัวการร่วมและอำนาจของกรรมการในการดำเนินคดีแทนสมาคม
แม้จำเลยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบสองร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลว่า เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยต่อศาล แต่ความจริงเป็นกรณีที่สมาคม ย. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ทั้งสิบสองกระทำการในฐานะกรรมการอำนวยการซึ่งเป็นผู้แทนของสมาคมที่เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของสมาคม ย. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 และ 86 ประกอบกับธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกำหนดให้คณะกรรมการอำนวยการของสมาคม ทำหน้าที่บริหารงานของสมาคม ทั้งในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือมอบให้โจทก์ที่ 12 ฟ้องจำเลยดังกล่าว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคม ย. โดยคณะกรรมการอำนวยการมีมติให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจในการสั่งการและลงนามในเอกสารใดๆ เสมือนเป็นนายกสมาคมทุกประการ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองเป็นตัวการร่วมกับสมาคม ย. ฟ้องจำเลยด้วย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองเป็นคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จและฟ้องเท็จ กรณีปลอมแปลงเอกสารและเบิกความเท็จต่อศาล
จำเลยทราบว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่าปลอม ความจริงเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ มิใช่ลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จำเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าจำเลยสงสัยโจทก์ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15232/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเท็จและการบรรเทาโทษตามมาตรา 176 ประมวลกฎหมายอาญา การถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษา
จำเลยเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 และนาง ป. เป็นจำเลยที่ 2 แต่ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้น เมื่อจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องคดีโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและความผิดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยฟ้องคดี แม้จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จะให้การรับสารภาพก็หาใช่ว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อันมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยดังข้อฎีกาของจำเลยไม่
บทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 176 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้น เมื่อจำเลยถอนฟ้องในคดีอาญาที่เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ก่อนมีคำพิพากษาย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ลุแก่โทษต่อศาลแล้ว ควรได้รับการบรรเทาโทษตามบทบัญญัตินั้น ทั้งกฎหมายหาได้บัญญัติว่าจำเลยต้องให้การรับสารภาพจึงจะได้รับการบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15232/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเท็จและการบรรเทาโทษทางอาญา: โจทก์เป็นผู้เสียหายแม้จำเลยที่ 2 รับสารภาพ และการถอนฟ้องเข้าข่ายได้รับการบรรเทาโทษ
เมื่อจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหาย และความผิดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยฟ้องคดี แม้จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์จะให้การรับสารภาพ ก็หาใช่ว่าโจทก์มีส่วนมีร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อันมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่
ส่วน ป.อ. มาตรา 176 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรเทาโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ เมื่อจำเลยถอนฟ้องในคดีอาญาที่เอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ลุแก่โทษต่อศาลแล้ว ควรได้รับการบรรเทาโทษตามบทบัญญัตินั้นทั้งกฎหมายหาได้บัญญัติว่าจำเลยต้องให้การรับสารภาพจึงจะได้รับการบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9941/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาสุจริตในการฟ้องคดีอาญาและการเบิกความต่อศาล เมื่อเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง
ตามพฤติการณ์ทั้งโจทก์ ศ. และ น. ต่างมีความประสงค์ที่จะหาเงินเพื่อมาลงทุนค้าขาย เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน การที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมาไม่ว่าด้วยประการใดๆ ย่อมทำให้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมต้องเข้าใจว่าการที่ ศ. สั่งจ่ายเช็คซึ่งบัญชีปิดแล้วและลายมือชื่อไม่ตรงตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเป็นผลทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ ซึ่งเท่ากับมีผลทำให้จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์นั่นเอง บุคคลในสถานะเช่นจำเลยย่อมต้องเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อกู้ยืมเงินต้องมีส่วนรู้เห็นกับ ศ. ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลย โดยมิพักต้องคำนึงว่าตัวโจทก์จะอยู่รู้เห็นในขณะที่ ศ. ออกเช็คนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อ ศ. เป็นผู้ที่ติดต่อให้โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรโจทก์ที่จะหาเงินร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. และเช็คนั้นก็เป็นเช็คที่สั่งจ่ายตามจำนวนเท่ากับที่โจทก์กู้ยืม และลงวันที่เดียวกับวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่จำเลยเช่นนี้ เช็คฉบับดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่ ศ. ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของโจทก์ในอันที่จะได้เงินจากจำเลยไปมอบให้แก่ น. เพื่อร่วมลงทุนค้าขายกับ ศ. เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินที่ให้กู้ยืมคืน การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์รู้เห็นกับ ศ. ในการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีอาญาต่อโจทก์และ ศ. กล่าวหาโจทก์และ ศ. ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์และ ศ. ร่วมกันหลอกลวงเอาเงิน 1,100,000 บาท ไปจากจำเลยแล้วไม่คืนให้ตามที่ตกลงกันโดยจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีอาญาได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะทำให้เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานฟ้องเท็จแล้ว การที่จำเลยเบิกความไปตามที่ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน การฟ้องเท็จ และการนำสืบพยานหลักฐานเท็จ
เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกับ บ. แต่จำเลยจัดให้ บ. และ ฝ. ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมสัญญากู้ยืมเงิน การที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ร่วมโดยระบุว่าโจทก์ร่วมออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นฟ้องเท็จ เพราะการกู้ยืมเงินไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ร่วม จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปลอมเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จ, ฟ้องเท็จ, การจับกุม, และการไต่สวนมูลฟ้อง: ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอ
พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับการทำสัญญาจะขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 มีเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เป็นการแจ้งข้อความไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเช่นกัน
เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามในข้อหาฉ้อโกง และตามคำแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ได้ดำเนินการและเมื่อสอบสวนแล้วได้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการออกหมายจับโจทก์ทั้งสามนั้นก็เป็นการออกหมายจับหลังจากที่โจทก์ทั้งสามไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกหลายครั้ง กรณีจึงมีเหตุที่จะออกหมายจับโจทก์ทั้งสามได้ ในการขอออกหมายจับ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เห็นชอบให้ออกหมายจับโจทก์ที่ 1 ถ้าโจทก์ที่ 1 มิได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้สอบสวนต่อไป การที่ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลที่เกิดเหตุได้ออกหมายจับโจทก์ทั้งสาม จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือผิดระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การจับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านโดยมีหมายจับของเจ้าพนักงานตำรวจและหมายค้นของศาล ทั้งพฤติการณ์ในการตรวจค้นจับกุมก็ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านโจทก์ที่ 1 เวลา 18.02 นาฬิกา เมื่อแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น โจทก์ที่ 1 ซึ่งยืนอยู่บริเวณด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้านแล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิดประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านในไว้จนเปิดออกแล้ว เข้าไปจับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นกรณีจำเป็นซึ่งเจ้าพนักงาานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 94 วรรคสอง
โจทก์ทั้งสามถูกจับกุมไปที่สถานีตำรวจเมื่อเวลา 23 นาฬิกา เมื่อไปถึง พนักงานสอบสวนซึ่งรับตัวโจทก์ที่ 1 ย่อมจะต้องทำการสอบสวนและทำประวัติโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา อีกทั้งในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของโจทก์ทั้งสามยังจะต้องพิจารณาข้อกล่าวหา พยานหลักฐาน พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีและความน่าเชื่อถือของหลักประกันด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลาตามสมควร การที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวโดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จึงสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสามเช่นนี้เป็นการใช้เวลาตามสมควรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อปรากฏว่าจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้จะเบิกความยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลย ประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างส่งศาล ข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว คดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเท็จคดีอาญาและการเบิกความเท็จ ศาลพิจารณาว่าเป็นการฟ้องโดยสุจริตและไม่มีมูล
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3963/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง และการกระทำเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม
การที่โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยจำนวน120,000 บาทเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
จำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
การที่จำเลยฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้ความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยมิใช่เพื่อจำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย
การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก
of 10