คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชีพ จุลมนต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาจากการเบิกความเท็จ ขึ้นอยู่กับการได้รับความเสียหายโดยตรงจากกรรมสิทธิ์ที่ถูกกระทบ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานเท็จในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนโดยโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ช. ให้ดำเนินคดีแทน และคำฟ้องคดีนี้มิได้กล่าวว่าโจทก์มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในบ้านพิพาทอย่างไร แม้สำเนาคำฟ้องคดีก่อนระบุว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อบ้านพิพาทจาก ช. แต่ก็ปรากฏตามคำฟ้องดังกล่าวว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ได้จดทะเบียนการซื้อขายบ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และโจทก์ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านพิพาทยังคงเป็นของ ช. จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนเสื่อมเสียกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท จึงมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8900/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีถังก๊าซหุงต้มของผู้อื่น และบรรจุก๊าซลงในถังนั้น โดยไม่เป็นผู้ค้าน้ำมันตามกฎหมาย
ผู้ค้าน้ำมันตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป โดยที่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บทบัญญัติตามข้อ 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง จึงกำหนดเป็นบทบังคับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยการจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน หรือมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่นหรือผู้บรรจุก๊าซ เป็นผู้ดำเนินการแทนได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน การฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 และ 8 ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไม่จัดให้มีการบรรจุก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตนหรือได้มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากผู้เยาว์และการกระทำชำเรา โดยพิจารณาเจตนาในการเลี้ยงดูฉันสามีภริยา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและผู้เสียหายที่ 2
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์กระทงแรกนั้น จำเลยโทรศัพท์นัดหมายเด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 3 ให้ไปพบแล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 ฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เอง หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราแล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จากนั้นจำเลยรับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยาจึงสามารถที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยกระทงที่สองนั้น เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาอยู่ด้วย กระทั่ง ม. มารับผู้เสียหายที่ 3 กลับไป แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8833/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การใช้บัตร ATM เพื่อหวังผลประโยชน์จากบัญชีผู้เสียหายเป็นเจตนาต่อเนื่อง
การที่จำเลยนำบัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหายไปใช้เบิกถอนเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะได้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย จำเลยใช้บัตรเอ ที เอ็ม ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่อเนื่องกันและจุดมุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินของผู้เสียหาย หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจะเป็นความผิดสำเร็จก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8700/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์: เหตุสุดวิสัยจากการไม่ได้รับแจ้งคำสั่งศาล
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกวันที่ 24 มีนาคม 2552 โดยผ่านทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 โดยไม่ได้มีคำสั่งให้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ต่อมาผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาล มีหนังสือลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ถึงผู้อำนวยการสำนักทัณฑสถานหญิงกลาง ให้แจ้งคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่ามีหนังสือของผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลทราบว่าได้แจ้งคำสั่งศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ทราบตั้งแต่เมื่อใด เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ได้ กรณีดังกล่าวถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8550/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีละเมิด: การรู้หรือควรรู้ตัวผู้ต้องรับผิดและระยะเวลาดำเนินการของหน่วยงาน
เหตุละเมิดคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 และฉบับวันที่ 5 มิถุนายน ถึงจำเลยที่ 1 แสดงว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 5 มิถุนายน 2538 โจทก์ได้รู้แล้วว่าผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสาม แม้โจทก์จะอ้างว่าต้องรับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้มีงานคั่งค้างเป็นเหตุให้รายงานอธิบดีโจทก์ทราบล่าช้า แต่การใช้เวลาดำเนินการเนิ่นนานไปจนผิดปกติเช่นนี้ โจทก์ควรมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้างและไปติดขัดอยู่ที่ใด และไม่ปรากฏว่าโจทก์เร่งรัดไปยังแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 เพิ่มเติมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งที่รู้แล้วว่าผู้ที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสามแต่กลับเพิ่งจะมีบันทึกข้อความรายงานถึงอธิบดีโจทก์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และอธิบดีโจทก์ลงนามรับทราบในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ภายหลังวันเกิดเหตุเกือบ 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกินสมควรกว่าขั้นตอนการปฏิบัติราชการตามปกติ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์เพิ่งจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เชื่อว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 เกิน 1 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8529/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จำเลยต้องให้การต่อสู้คดีแพ่งชัดเจน หากมิได้ยกข้ออ้างในชั้นต้น ห้ามอุทธรณ์ฎีกา
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเนื่องจากจำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนเกินที่โจทก์ขายที่ดินไว้ในครอบครองแล้วเบียดบังไปเป็นของตนโดยทุจริต สิทธิเรียกร้องทางแพ่งจึงต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีอาญา โจทก์ย่อมนำคดีส่วนแพ่งมาฟ้องรวมกับคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะพิจารณายกฟ้องในคดีส่วนอาญา ก็ไม่ทำให้ฟ้องในส่วนแพ่งที่สมบูรณ์แล้วเสียไป
การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับประทับฟ้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการสั่งให้รับฟ้องคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งด้วย หากจำเลยจะต่อสู้คดีส่วนแพ่ง จำเลยจะต้องให้การต่อสู้ตามที่ ป.วิ.พ. ได้บัญญัติไว้พร้อมกับคำให้การต่อสู้คดีส่วนอาญาด้วยกัน โดยคำให้การคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การของจำเลยให้การต่อสู้คำฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งรวมกันมาว่า จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นเท่านั้น คำให้การส่วนแพ่งจึงเป็นเพียงการปฏิเสธลอย ๆ หาได้โต้แย้งข้อเท็จจริงฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งซึ่งจำเลยจะต้องให้การมาโดยแจ้งชัดด้วยว่า คดีในส่วนแพ่งเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น เพราะเหตุใด เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีในส่วนแพ่งเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นหรือไม่ ถือว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องระงับเมื่อคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดเดียวกันถูกพิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีก่อน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนำเงิน 29,400,000 บาท ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตาม ป.อ. หรือกฎหมายอื่น โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพไปหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้ผู้ใดพบเห็นและทราบถึงลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนทั้งการได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากจะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว โจทก์ยังขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาด้วย ส่วนคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้เบิกเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสว่างแดนดินไปรวม 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 29,400,000 บาท แล้วไม่นำมาเก็บรักษาไว้ในที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน หรือนำไปใช้จ่ายในกิจการของที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน แต่กลับเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอให้ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 เห็นได้ว่า วันเวลา สถานที่รวมถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เป็นวันเวลา สถานที่เดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีก่อนของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในคดีดังกล่าวแล้วว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีการทุจริตยักยอกเงินถึง 22 ครั้ง แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมมิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7296/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความที่ไม่สมบูรณ์และผลกระทบต่อการดำเนินคดีอาญา: เงื่อนไขการไม่ประจาน vs. การสละสิทธิ
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าฝ่ายโจทก์ร่วมตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตลอดไป แต่กลับมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ร่วม โดยจำเลยจะต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะอีกต่อไป แสดงว่าโจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปพูดให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยได้ประกาศต่อที่ประชุมใหญ่บริเวณหมู่บ้านว่า โจทก์ร่วมไปขโมยปลา และประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านนำไข่เน่าไปปาหน้าบ้านโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่า ถ้าจำเลยนำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะ โจทก์ร่วมยังคงติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7295/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม, ลักทรัพย์, และสิทธิการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม
จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมอบฉันทะให้จำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงิน รับเงิน และรับสมุดบัญชีเงินฝาก แล้วจำเลยใช้และอ้างใบถอนเงินปลอมแก่พนักงานโจทก์ร่วม จนพนักงานโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินตามใบถอนเงินปลอมให้แก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักและเอาไปเสียซึ่งสมุดบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้วปลอมใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วมเอาไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอเบิกถอนเงิน เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
of 5