คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชีพ จุลมนต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยในคดีอาญา ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่ความสืบพยานใหม่ หากจำเลยกลับคำให้การ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกให้ที่พักอาศัยและซ่อนเร้นคนต่างด้าวรวม 43 คน เพื่อให้พ้นจากการจับกุม และรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วยืนยันให้การตามนี้ แต่ในวันเวลาเดียวกัน ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ด้วยในขณะที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยอีกครั้งหลังจากจำเลยยื่นคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ การที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์บางส่วน แต่โจทก์ไม่สืบพยานดังที่จำเลยฎีกา แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ระบุว่าจำเลยรับว่ามีคนงานเพียง 6 คน แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยให้การปฏิเสธตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยผิดหลง จึงมิได้เปิดโอกาสให้โจทก์สืบพยาน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสอบคำให้การจำเลยเป็นต้นไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7250/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเบิกความเท็จต้องระบุข้อสำคัญในคดีอาญา ศาลต้องพิจารณาได้ว่าคำเบิกความนั้นมีผลต่อการพิจารณาคดีหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เบิกความว่าอย่างไรและความจริงเป็นอย่างไร แล้วบรรยายฟ้องต่อไปถึงการกระทำต่างๆ ของจำเลยแล้วสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเบิกความโดยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อสาระสำคัญของคดี โดยโจทก์ไม่บรรยายให้เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าว ประเด็นและข้อความที่เป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีนั้นอย่างไร เช่นนี้ ศาลย่อมไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์เป็นข้อสำคัญในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จและนำสืบอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสันดาน: ศาลพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนผู้เสียหายซึ่งน่าเชื่อถือกว่าคำเบิกความในชั้นศาล
ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ได้ขัดขืนเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นบิดา แต่ให้การตามบันทึกคำให้การต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ พนักงานอัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ร้องขอไม่ให้จำเลยทำ จำเลยไม่ฟังและผู้เสียหายก็มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่มีแรงที่จะขัดขืน ผู้เสียหายเป็นบุตรจำเลยและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายยังรักจำเลยและไม่ประสงค์จะเอาเรื่องจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อกว่าคำเบิกความ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าแต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ประกอบกับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่บุตรจะยินยอมให้บิดากระทำชำเรา คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลหนักแน่นรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6770/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต้องมีเหตุพิเศษและดำเนินการภายในกรอบเวลาที่ศาลอนุญาต หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ศาลไม่รับวินิจฉัย
การขอขยายหรือย่นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย เมื่อคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและโจทก์ร่วมประสงค์จะให้อัยการสูงสุดรับรองให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ โจทก์ร่วมชอบที่จะดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ทันที แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด เมื่อใกล้วันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์โจทก์ร่วมกลับยื่นคำร้องให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ภายหลังเมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อ้างว่า เพื่อจะดำเนินการขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นความบกพร่องของโจทก์ร่วมเอง ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาใช้อำนาจทั่วไปขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ร่วมและให้โอกาสโจทก์ร่วมได้ใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้อย่างเต็มที่นั้น เมื่อตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมอ้างเหตุเพื่อขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง มิได้ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6096/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการกระทำความผิดทางเพศ: พยานหลักฐาน ความสัมพันธ์ และแรงจูงใจ
แม้อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์ยกขึ้นอ้างอิงคัดค้าน หรือกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด แต่คดีนี้โจทก์มีผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว และศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงความสัมพันธ์ของผู้เสียหายกับจำเลย หน้าที่การงานของผู้เสียหาย และการที่จำเลยผิดนัดไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายจนเป็นสาเหตุให้เกิดคดีนี้ แล้วเห็นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย สาเหตุที่ผู้เสียหายโกรธเคืองจำเลยเพราะจำเลยไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายตามนัดหมาย และญาติของผู้เสียหายยุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพื่อเรียกทรัพย์สิน วันเกิดเหตุผู้เสียหายยินยอมสมัครใจไปกับจำเลยเพื่อเจรจาต่อรองเกี่ยวกับคดีอาญาที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ แต่เมื่อผู้เสียหายเรียกร้องเงินจากจำเลยและจำเลยไม่ยินยอมให้ จึงทำให้ผู้เสียหายไม่พอใจ และศาลชั้นต้นมีแนวโน้มจะเชื่อคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการขัดต่อหลักการพิจารณาคดี เท่ากับอุทธรณ์ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5860/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาเกี่ยวกับเอกสารปลอม: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม ทำให้ไม่เกิดความเสียหาย
โจทก์เคยฟ้องขอให้บังคับจำเลยกับ ม. ร่วมกันชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเชื่อว่าสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ทำปลอมขึ้น ผลแห่งคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยกับ ม. รับผิดต่อโจทก์ได้ แม้จะได้ความว่าจำเลยปลอมสัญญาค้ำประกันอันเป็นเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 28 (2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5802/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีที่ยังไม่สิ้นสุด และอำนาจการพิจารณาพิพากษาขององค์คณะที่ได้รับมอบหมาย
ศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองในการผ่อนชำระหนี้และเลื่อนการฟังคำพิพากษาไป จึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไป เพราะเมื่อถึงกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นต้องสอบถามโจทก์และจำเลยทั้งสองก่อนว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ เพื่อประกอบดุลพินิจว่าจะให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไปหรือมีคำพิพากษาในวันดังกล่าว จึงหาใช่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้เสร็จสิ้นแล้วไม่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำพิพากษาที่เลื่อนมาว่า ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองแถลงว่าได้นำเงินบางส่วนมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ และขอให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไป แต่โจทก์แถลงคัดค้านไม่ยอมรับเงินที่จำเลยทั้งสองวางศาลเพราะจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ดังนี้ คดีจึงยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มิใช่อยู่ระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 ผู้พิพากษาอีกคนในศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้นั่งพิจารณาคดีแทนองค์คณะพิจารณาคดีเดิมในวันนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าว จึงเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในคดีอาญา: พฤติการณ์พิเศษและการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 โดยอ้างเหตุเดียวกันว่า ขอถ่ายสำเนาคำพิพากษารวมทั้งบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและสั่งสำนวนในชั้นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสาร และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพราะเหตุดังกล่าวทั้งสี่ครั้งเป็นเวลานานถึง 5 เดือนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ ครั้งที่ 4 ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ว่า คำพิพากษาจัดพิมพ์เสร็จแล้ว แสดงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจัดพิมพ์เสร็จก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 แม้โจทก์จะมีระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หากโจทก์ในฐานะพนักงานอัยการจะไม่ยื่นอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนและคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้งให้ส่งสำนวนและความเห็นไปให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ของโจทก์ที่ว่า เสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณา ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 โดยเพิ่งอ้างเหตุดังกล่าว แสดงว่า เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสารในสำนวนแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์คดีนี้ตามกฎหมายทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5727/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการจัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมเล่นพนัน ศาลลงโทษได้ทั้งสองกรรม
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐานไม่จำต้องบันทึกโดยละเอียด แต่ก่อนบันทึกฟ้อง ศาลอาจจะสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จำเลยกระทำผิด และจะบันทึกไว้เฉพาะข้อความสำคัญ ส่วนบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์เท่านั้น เมื่อบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ปรากฏว่าโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมกันเล่นไพ่รัมมี่ ย่อมเข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแล้ว แม้โจทก์จะไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมและบรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 1 ในแต่ละข้อหาเป็นข้อย่อยมาให้ชัดเจน อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ตาม ไม่อาจถือว่าบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ไม่ชัดเจนว่าโจทก์ไม่ประสงค์ลงโทษจำเลยที่ 1 ในแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ทั้งการที่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นการพนันไพ่รัมมี่ แล้วจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สภาพแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกัน คือ จัดให้มีการเล่นก็โดยมีเจตนาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จำเลยที่ 1 ก็ได้ผลประโยชน์แห่งตนแล้ว เป็นความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันด้วยเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 หลังแก้ไข: การสัมผัสภายนอกไม่ใช่ความผิด
การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 เดิม คือ การร่วมประเวณีหรือการร่วมเพศ โดยต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" เห็นได้ว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตของการกระทำชำเราให้กว้างขึ้นเฉพาะในส่วนเพศของผู้กระทำกับเพศของผู้ได้รับการกระทำ อวัยวะและสิ่งที่ใช้กระทำกับอวัยวะที่ได้รับการกระทำกับเจตนาพิเศษในการกระทำ โดยจากเดิมเพศชายกระทำกับเพศหญิงเท่านั้น เป็นเพศใดกระทำกับเพศใดก็ได้ จากเดิมใช้อวัยวะเพศชายกระทำกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น เป็นใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำเพศใดก็ได้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นเพศใดก็ได้ หรือใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่นเพศใดก็ได้ แล้วแต่กรณี และต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ อันเป็นการทำให้บุคคลทุกเพศได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน แต่ในส่วนลักษณะของการกระทำนั้น มิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงยังต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวอันเป็นอวัยวะที่เป็นช่องหรือรูเปิดของร่างกาย ดังนั้น การที่จำเลยใช้อวัยวะเพศถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายอันเป็นการสัมผัสภายนอก ไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย จึงยังไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 แต่เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ อันเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก การกระทำชำเรารวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
of 5