คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 310 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินสงเคราะห์ตกทอดหลังเสียชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์สินที่บังคับคดีได้
เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน – การอายัดสิทธิเรียกร้อง – เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้
คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมี ศ. หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน
ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง จึงถือไม่ได้ว่า ศ. มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น" โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6839/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการอายัดเงินสหกรณ์: เงินปันผล vs. เงินเฉลี่ยคืน/ค่าหุ้น เมื่อสมาชิกลาออก
ข้อความในหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มีสาระสำคัญว่า ขออายัดเงินปันผลและเงินอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น นั้น ได้แยกการอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ เงินปันผลส่วนหนึ่ง และเงินอื่นๆ นอกจากนั้นอีกส่วนหนึ่ง ในส่วนของเงินปันผล พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการขออายัดคดีนี้ บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามจำนวนหุ้นของสมาชิกแต่ละคนที่ชำระแล้ว เงินปันผลจึงเป็นเงินที่ผู้คัดค้านต้องจ่ายแก่สมาชิกทุกคนเป็นรายปีทุกๆ ปีขณะที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ส่วนเงินอื่นๆ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (2) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีจ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้กระทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีแต่ละปี เงินเฉลี่ยคืนจึงเป็นการจัดสรรจ่ายให้แก่เฉพาะสมาชิกบางคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ และจ่ายเฉพาะในปีที่ทำเท่านั้น จึงเป็นการจ่ายให้เป็นการเฉพาะในแต่ละครั้ง ไม่อาจจ่ายเป็นประจำทุกปีเสมอไปได้ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 เพราะ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นของสมาชิกนั้น เว้นแต่สมาชิกภาพนั้นจะสิ้นสุดลง ซึ่งไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และไม่ทราบล่วงหน้าด้วยว่าจะต้องจ่ายเมื่อใด จึงเป็นการจ่ายเฉพาะในแต่ละครั้งและไม่อาจจ่ายเป็นประจำปีรายได้เช่นกัน ดังนั้น คำขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดในข้างต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดรวมถึงเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องตามหมายบังคับคดีที่ศาลอนุญาตตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติถึงการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา 310 ทวิ ว่า ให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว แต่ในวรรคสองของมาตรานี้ก็บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไว้ด้วยว่า เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ให้จัดการอายัดตามหมายบังคับคดีฉบับดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีแล้วว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อบุคคลภายนอกได้ คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ย่อมเท่ากับเป็นคำสั่งอายัดของศาลโดยผลของมาตรา 311 วรรคสองดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ไปถึงผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความของสิทธิเรียกร้องจากการซื้อขายและการอายัดทรัพย์เพื่อบังคับคดี การสะดุดหยุดของอายุความ
โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในค่าสินค้างวดที่ค้างชำระที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านแทนจำเลย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือ ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวที่สั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) และโจทก์ก็ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าสินค้าแก่ผู้คัดค้านแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีแก่ผู้คัดค้านคือค่าสินค้างวดที่ 3 จำนวนร้อยละ 10 ของราคา เมื่อคำนวณเป็นจำนวนเท่าไรหากไม่ถึงจำนวนที่อายัด ผู้คัดค้านก็รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น แม้เดิมโจทก์ขออายัดชั่วคราวเป็นเงิน 760,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเป็นเงิน 954,810 บาท โดยนำยอดหนี้ของจำเลยทั้งหมดรวมอยู่ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายัดสิทธิเรียกร้องค่าหุ้นค้างชำระ: เจ้าหนี้ใช้สิทธิบังคับคดีต่อบุคคลภายนอกได้
สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องค่าหุ้นค้างชำระจากผู้ถือหุ้นได้ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องได้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ, 311 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการอายัดทรัพย์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีสิทธิเพิกถอนการอายัดได้
จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยจะได้รับจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2542 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) และวันเดียวกันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง โดยการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2540 และผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2542 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิเรียกร้องนั้น และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว การอายัดดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นอายัดเงินตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ผู้ร้องมิใช่บุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องจึงไม่จำต้องคัดค้านคำสั่งอายัดก่อนการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งเงินไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่ผู้ร้อง
การอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แม้มีข้อจำกัดตามกฎหมายสหกรณ์
แม้พระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ มาตรา 42 วรรคสอง จะกำหนดว่าในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้นก็ตาม แต่เงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้ร้องไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นเงินทุนของผู้ร้องที่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ซึ่งตามระเบียบของผู้ร้องก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะโอนหรือถอนคืนค่าหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกไม่ได้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ในการถอนคืนเงินค่าหุ้นดังกล่าวจึงมีเงื่อนไข ซึ่งการชำระเงินค่าหุ้นคืนของผู้ร้องก็มีเงื่อนไขในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 311 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดและได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม ในเมื่อสิทธิเรียกร้องนั้นไม่อยู่ในข้อยกเว้นในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 แต่จะกำหนดในคำสั่งอายัดให้เป็นการฝ่าฝืนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขแห่งหนี้นั้นหาได้ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดให้ผู้ร้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อจำเลยที่ 1พ้นจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องแล้ว จึงหามีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องไม่ ทั้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดียังสอดคล้องกับเงื่อนไขแห่งหนี้ที่ผู้ร้องต้องชำระแก่จำเลยที่ 1กรณีจึงไม่เป็นคำสั่งอายัดที่ขัดต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ฯ มาตรา 42 วรรคสอง