พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219-7229/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแสดงอำนาจพิเศษในคดีบังคับคดีขับไล่: กำหนดเวลา 8 วันเป็นเพียงระยะเวลาสันนิษฐานสถานภาพ ไม่ตัดสิทธิการยื่นคำร้อง
การยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษเพื่อมิให้ต้องถูกบังคับในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่นั้น ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติว่า "...ให้ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา" บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับเด็ดขาดว่า ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ คงมีผลเพียงว่า ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ระยะเวลา 8 วัน ดังกล่าวจึงเป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันจะเป็นการตัดสิทธิของผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 จะยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศหรือไม่ก็ตาม ก็หามีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนและวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 7 ให้สิ้นกระแสความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3239/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด vs. การครอบครองปรปักษ์: สิทธิผู้ซื้อที่สุจริตได้รับการคุ้มครอง
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่าการกระทำโดยสุจริต คดีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย" ดังนั้น การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าอำนาจหรือสิทธิของโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวบรรยายเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินและบ้านมาตั้งแต่ปี 2522 และได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวบรรยายมาในคำร้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติมาตรา 6 ดังนั้น แม้ศาลจะทำการไต่สวนและฟังว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องชนะคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6361/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะบริวารของผู้เช่าและการบังคับคดีตามคำพิพากษา
จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินจำเลยเมื่อก่อสร้างเสร็จจำเลยยอมให้โจทก์จัดหาบุคคลมาเช่าตึกแถวดังกล่าวมีกำหนด30ปีต่อมาผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดค. ตัวแทนโจทก์มีกำหนด30ปีโดยผู้ร้องได้จ่ายเงินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดค. ไป300,000บาทแต่ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดค. เป็นตัวแทนสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยส่วนโจทก์ทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวยกกรรมสิทธิ์ให้จำเลยแต่มีข้อกำหนดว่าการทำสัญญาเช่านั้นให้ทำโดยตรงกับจำเลยมีกำหนดการเช่า30ปีสัญญาเช่าต้องนำไปจดทะเบียนการเช่าดังนั้นการที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ในตึกแถวห้องพิพาทโดยที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยจึงถือว่าผู้ร้องอยู่โดยอาศัยสิทธิโจทก์ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชดใช้หรือชำระเงินให้แก่จำเลยเดือนละ68,000บาทจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารออกไปจากตึกแถวห้องพิพาทแม้มิได้มีข้อความใดๆให้ขับไล่โจทก์และบริวารก็ตามแต่ก็แสดงชัดเจนแล้วว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะต้องออกจากตึกแถวห้องพิพาทดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขับไล่ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการบังคับคดีนอกเหนือคำพิพากษาศาลฎีกา