คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิศักดิ์ ตันติวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3589/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คลองประปาของรัฐวิสาหกิจได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มิใช่เพื่อหาผลกำไร
การที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐมีทรัพย์สินใช้ในกิจการและมีการเรียกเก็บเงินจากประชาชนไม่ได้หมายความว่าจะถือเป็นการใช้หาผลประโยชน์อันจะไม่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามความใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (1) เสมอไป แต่ต้องพิจารณารูปแบบของหน่วยงาน ประเภทของกิจการลักษณะการดำเนินงาน วัตถุประสงค์ การได้มาและลักษณะของการใช้ทรัพย์สินนั้น และปัจจัยอื่นประกอบด้วย พ.ร.บ.การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 6, 7, 13 และ 42 บ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเพื่อดำเนินกิจการของรัฐที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งมีรัฐเป็นเจ้าของและไม่ได้ดำเนินกิจการในรูปแบบองค์กรธุรกิจเอกชน โดยกิจการของโจทก์มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา และผลิต จัดส่ง รวมถึงจำหน่ายน้ำประปาแก่ประชาชนในเขตท้องที่รับผิดชอบ และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดและต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น การที่โจทก์ใช้คลองประปาพิพาทเพื่อส่งน้ำดิบจากแหล่งน้ำไปใช้ผลิตน้ำประปา จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปาและผลิตน้ำประปา และจากบทบัญญัติมาตรา 35, 45 และ 50 เห็นได้ว่า แม้โจทก์มีอำนาจกำหนดอัตราราคาขายน้ำ รวมถึงค่าบริการและความสะดวกต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งเพื่อให้โจทก์บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง แต่โจทก์ก็มีหน้าที่นำรายได้ที่โจทก์ได้รับในปีหนึ่ง ๆ หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่าง ๆ ส่งเป็นรายได้ของรัฐ หากโจทก์มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่าง ๆ และโจทก์ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เท่าจำนวนที่ขาดและสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรวมทั้งการเงินของโจทก์ทุกปี แสดงให้เห็นว่า ภายใต้การดำเนินงานของโจทก์จะถูกกำกับดูแลและสนับสนุนโดยรัฐ รายได้และรายจ่ายของโจทก์จึงเป็นเพียงปัจจัยในการดำเนินกิจการของโจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถบริหารจัดการกิจการของตนเองได้อย่างเต็มรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่รัฐและประชาชน ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าน้ำประปาที่โจทก์เรียกเก็บกับมูลค่าของคลองประปาพิพาทซึ่งเป็นต้นทุนในการใช้พื้นที่ในการส่งน้ำดิบไปเพื่อผลิตน้ำประปาแล้ว เห็นได้ว่าอัตราค่าน้ำดังกล่าวไม่อาจสะท้อนถึงมูลค่าของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่คลองประปาพิพาท และมิได้คำนึงถึงต้นทุนจากการใช้พื้นที่จำนวนมากในการสร้างคลองประปาพิพาท เพราะหากถือมูลค่าการเวนคืนพื้นที่คลองประปาพิพาทตลอดสายตั้งแต่ต้นทางและค่าก่อสร้างเป็นต้นทุนในการผลิตและใช้ในการกำหนดอัตราค่าน้ำด้วยแล้วเชื่อว่าไม่อาจคิดอัตราค่าน้ำในอัตราดังกล่าวได้ ถือว่าโจทก์กำหนดอัตราค่าน้ำเพื่อให้บริการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นโดยมิได้คำนึงถึงมูลค่าของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่คลองประปาพิพาท นอกจากนี้ การเก็บค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับคลองประปาพิพาทย่อมทำให้เกิดต้นทุนและอาจส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้น้ำต้องเดือดร้อนเสียอัตราค่าน้ำเพิ่มขึ้นและไม่เป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจของประเทศตามเหตุผลและความจำเป็นในการตรา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ดังนั้น คลองประปาพิพาทของโจทก์ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้หาผลประโยชน์จึงได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการรับมรดก: การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน หนี้สิน และการงด/ลดเบี้ยปรับ
กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 26 วรรคห้า เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า มรดก ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งบัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โดยมาตรา 1599 บัญญัติให้มรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจึงหมายถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากถือวันที่ผู้รับมรดกได้รับเอามรดกตามจริง นอกจากไม่เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ยังจะเป็นผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้รับมรดกว่าจะรับเอามรดกเมื่อใด ซึ่งยากต่อการบังคับใช้กฎหมายของทุกฝ่าย ดังนี้ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามบัญชีเงินฝากธนาคารพิพาทที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 5 ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้นจึงต้องถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินดังกล่าวที่พึงมีในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น รายการฝาก รายการดอกเบี้ย และรายการเงินปันผลที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีสิทธิได้รับในขณะถึงแก่ความตาย ตลอดจนรายการหนี้สินต่าง ๆ ที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นหนี้ของกองมรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณและหักมูลค่าเพื่อเสียภาษีการรับมรดก
การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ เป็นการเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้ามรดกที่มีหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นการเก็บภาษีจากทายาทผู้รับมรดกซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษีกัน โดย พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 บัญญัติถึงกรณีการเสียภาษีการรับมรดกของทายาทไว้โดยเฉพาะ ไม่จำต้องถือตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ
เจ้ามรดกเป็นเจ้าของหุ้นกู้ของบริษัท ซ. ซึ่งในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายคือหุ้นกู้และสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ไม่ใช่เงินฝากจากเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ที่เป็นทรัพย์มรดกจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (3) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 3 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาเพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยระบุไว้ในประกาศกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 12 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน กรมศุลกากรจะออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อขยายหรือเพิ่มเติมหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพื่อพิจารณาให้สิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรให้แตกต่างไปจากประกาศกระทรวงการคลังไม่ได้
เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษีและจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิการลดอัตราอากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดย่อมลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234-5238/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของอัยการพิเศษ, การปรับบทลงโทษ, และความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) ระบุว่าในคดีอาญาพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ประกอบกับการมีคำสั่งมอบหมายของอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นพนักงานแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลที่รับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลย หาต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตัวแทน ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องในคดีที่จำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยระบุว่า อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 รับผิดชอบฟ้องคดีและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163 และ 164 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษคดียาเสพติด: การให้ข้อมูลเป็นประโยชน์, กฎหมายใหม่, และการเพิ่มโทษ
แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี คดีนี้จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าว หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุมนั้นไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อเท็จจริงและดุลพินิจศาลชั้นต้น/อุทธรณ์, ฟ้องอาญาแจ้งความเท็จ, การสอบสวนที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน แต่ยังพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่พิพากษากลับ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุก เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ทั้งเป็นกรณีที่ไม่อาจรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำคุกหลังรับสารภาพ และดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้ถือเอาอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสำคัญแต่ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ กล่าวคือในความผิดฐานใดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว แม้จำเลยให้การรับสารภาพ กฎหมายก็บังคับให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้เมื่อข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงสิบปีหกเดือน ถึงแม้โทษจำคุกสิบปีหกเดือนนี้จะเป็นโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกห้าปีแต่ก็เป็นอัตราโทษอย่างสูง ส่วนอัตราโทษอย่างต่ำในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนขึ้นไป ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกสิบปีหกเดือนลงมาจนถึงจำคุกหนึ่งปีหกเดือนก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 6 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่ได้สืบพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยนั้น ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้น: สัญญาไม่ระบุเลขที่หุ้นไม่เป็นโมฆะ และการพิสูจน์กลฉ้อฉลต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุน
สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จากจำเลยที่ 3 ในสัญญาระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการ หลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาได้บัญญัติว่า ถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ถูกกระทบจากการยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีภาษี ผู้มีสิทธิยึดทรัพย์มีสิทธิคัดค้านได้
แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมโดยมิชอบและการเรียกรับเงินจากผู้ถูกจับกุม ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 และ 157
การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น
of 2