คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กฤษฏิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากการซื้อห้องชุดประมูล การรับผิดชอบของเจ้าของกรรมสิทธิ์ใหม่ และสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุด
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระ ส่วนบทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามกฎหมาย โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประมูลซื้อห้องชุดเลขที่ 83/15 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ 1 ของอาคารชุด ศ. อาคาร 3 อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยการขายทอดตลาดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ผู้ซื้อย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิมและต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามข้อบังคับของจำเลย เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบด้วย
ในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุด ตามปกติของเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบุเงื่อนไขการขายทอดตลาดไว้ว่า ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน (หากมี) ต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วยซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดี โจทก์จึงสามารถตรวจสอบภาระหนี้สินได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าประมูลสู้ราคาได้ ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระมีจำนวนมากหรือสูงกว่าราคาห้องชุดที่โจทก์ซื้อ โจทก์สามารถตัดสินใจที่จะเข้าสู้ราคาในการประมูลขายทอดตลาดหรือไม่ตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่จำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์และระงับการให้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่โจทก์ได้
ค่าปรับของจำนวนค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระตามข้อบังคับของจำเลยมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ซึ่งจำเลยกำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เจ้าของห้องชุดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรนั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 โจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งถ้าหากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ก็มีอำนาจลดลงให้เป็นจำนวนที่พอสมควรได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากจำเลยแจ้งจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดที่ค้างชำระแต่อย่างใด ที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้ทำนองว่า จำเลยเรียกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและค่าปรับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางเดือนละ 425 บาท ทั้ง ๆ ที่ในข้อบังคับหมวด 6 ข้อ 13 ในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อ 250 บาท เพียงเดือนละ 423.50 บาท เท่านั้นและไม่มีการออกใบเสร็จเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13387/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง: การพิจารณาจากสภาพแห่งข้อหาในคำฟ้อง ไม่ใช่ชื่อคู่ความ หากฟ้องหน่วยงานที่ไม่มีสถานะนิติบุคคล ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
การจะพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถูกฟ้องในสถานะใด มิใช่ดูเพียงชื่อในช่องคู่ความของคำฟ้องเท่านั้น ข้อสำคัญต้องพิจารณาจากเนื้อหาตามคำบรรยายฟ้องที่เป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองมุ่งประสงค์จะฟ้องและมีคำขอให้บังคับนั้นคือผู้ใด โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการสังกัดหน่วยงานของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 มีผู้บริหารเรียกว่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี เป็นผู้กระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการสังกัดหน่วยงานของจำเลยที่ 3 ชื่อว่า ธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรี เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 3 โดยมี ธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรีกระทำการแทน และบรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องไม่ใช่ที่ราชพัสดุอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงสถานะจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า เป็นส่วนราชการ คำฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงมุ่งประสงค์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ หาใช่ฟ้องตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการของจำเลยที่ 2 และที่ 4 แต่อย่างใด เมื่อฎีกาของโจทก์ทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจถูกฟ้องได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4
การที่ศาลนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องมาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี จึงชอบที่จะยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2), 172 วรรคสาม ไม่ใช่มีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าและการกระทำที่เข้าข่ายลักทรัพย์ ศาลตัดสินว่าเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง
จำเลยทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองมีต่อลูกค้ารวม 23 รายให้แก่โจทก์ภายหลังจากนั้นจำเลยกลับใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกค้าบางรายชำระค่าสินค้าแก่จำเลย แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิใช่วัตถุมีรูปร่างที่สามารถเคลื่อนที่ได้อันอาจจะมีการเอาไปได้ตามความหมายของคำว่า ทรัพย์ ในความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไปขอรับเงินหรือเช็คค่าสินค้าจากลูกค้านั้น ก็ไม่ได้เป็นการกระทำแทนโจทก์ เงินและเช็คดังกล่าวจึงยังมิใช่ทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ แต่เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอันเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ การคำนวณโทษตามมาตรา 80 และการพิจารณาอัตราโทษสูงสุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนั้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบแต่อย่างใด
ป.อ. มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" หมายถึง การกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด หาใช่ต้องระวางโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสองก่อนและกำหนดโทษสำหรับความผิดของจำเลยทั้งสองแล้วจึงลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสองดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80, 336 ทวิ ซึ่งผู้กระทำผิดตามมาตรา 336 ทวิ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง เมื่อมาตรา 336 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี อัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 336 ทวิ คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าว จึงเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 4 ปี จึงไม่เกินอัตราโทษสูงสุดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเป็นทายาทโดยใช้ทะเบียนบ้าน และสิทธิในการจัดการมรดกตามลำดับชั้น
ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713