คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการคิดดอกเบี้ยตามสิทธิหลังการซื้อขายทรัพย์สินภายใต้พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต/ทรัสต์รีซีท: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การแปลงสกุลเงิน, และอัตราดอกเบี้ย
การที่จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์ เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องนำสินค้าออกไปพร้อมกับชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์พร้อมกับออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นหลัก จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์จึงเป็นการประกันเพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น หาใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวไม่
แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัดจึงมีผลใช้บังคับ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้
โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินประกาศของธนาคารโจทก์ที่ประกาศกำหนดเอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง โดยไม่ได้กำหนดให้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
เนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้เป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเป็นกรณีที่ต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนดอกเบี้ยดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงสมควรให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ของสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมฯ และการนำประกาศกระทรวงการคลังมาใช้
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบ การที่พยานโจทก์เบิกความว่า การคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว
แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่และถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสถาบันการเงินในการกำหนดดอกเบี้ยภายใต้กฎหมายเฉพาะ และความชอบด้วยกฎหมายของการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15
ตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ออกข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ. 2535 ไว้ในข้อ 3 ว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด" นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้เอง ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ออกประกาศธนาคารโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังแล้ว การกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์แม้จะเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมที่อ้างอิงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน ย่อมอยู่ภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 6 ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินอาจคิดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้นแม้สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในช่องกำหนดอัตราร้อยละต่อปีจะเว้นว่างไว้โดยไม่มีการพิมพ์ตัวเลข แต่สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้ได้ และยังระบุอีกว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดให้เรียกจากผู้กู้ยืมได้ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาได้ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศใช้บังคับใหม่ทันที โดยไม่จำต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้กู้และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ครบถ้วน อันเป็นข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมชัดแจ้งแล้ว และไม่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินหรือไม่ก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในอัตราต่าง ๆ ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์พึงมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6934/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินภายใต้ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
โจทก์เป็นสถาบันการเงินจึงต้องใช้ พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาใช้บังคับ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ไม่ให้เกินกว่าอัตราสูงสุดที่รัฐมนตรีกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ หาเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ย- เกินอัตรา พ.ศ. 2475 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้: ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ใช้ตามประกาศกระทรวงการคลัง ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์นั้น มีประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ข้อ 2 และข้อ 3กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ประกาศดังกล่าวออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามที่พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(4)และมาตรา 4 ให้อำนาจไว้ดังนี้ การที่จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์คิดจากจำเลยจึงหาได้เปลี่ยนแปลงโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ประการใดไม่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่มิให้เกินอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดจึงเป็นการไม่ชอบ ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9606/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจำกัดเฉพาะบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กรณีดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
ในการพิจารณาและวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เป็นการ ออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.บ. ให้อำนาจไว้ มิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
ประกาศกระทรวงการคลังเป็นการออกข้อกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 4 ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการออกข้อกำหนดโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แต่ทั้งประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
ประกาศที่ออกโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ไม่ใช่ประกาศของทางราชการและไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้วอีกด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของจำเลยไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเงินกู้ ศาลมีอำนาจลดจำนวนได้ตามสมควร แต่ไม่มีอำนาจงดเบี้ยปรับทั้งหมด
เมื่อสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยผ่อนชำระให้ธนาคารโจทก์ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 29,000 บาท ภายในวันที่ 11 ของทุกเดือน หากจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ.มาตรา 654หาทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ไม่เป็นเบี้ยปรับไม่
ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติใน ป.พ.พ.มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราตามที่ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับในสัญญากู้เงิน: ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับหากสูงเกินสมควร แต่ไม่มีอำนาจงดเบี้ยปรับทั้งหมด
เมื่อสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยผ่อนชำระให้ธนาคารโจทก์ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 29,000 บาท ภายในวันที่ 11 ของทุกเดือนหากจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 หาทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ไม่เป็นเบี้ยปรับไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควร แก้ไขให้ถูกต้อง
of 3