คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 166 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงจำกัดสิทธิประกอบอาชีพและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร ศาลแก้ไขให้มีผลใช้ได้เท่าที่เป็นธรรม
คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ว่าคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (1) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งนักบิน หากจำเลยที่ 1 ไม่ผ่านการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศจำเลยที่ 1 จะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบินที่โจทก์นำมาใช้ในสายการบินของโจทก์ได้ การฝึกอบรมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่น ข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนและเสียเบี้ยปรับจึงเป็นข้อหามที่มีลักษณะเพื่อปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานเป็นข้อตกลงที่สามารถกระทำได้ ทั้งจำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนให้โจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า ดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไว้ 300,000 บาท และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปเพียง 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี เป็นการทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติศาลฎีกาให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923-8927/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย และความเป็นนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ลูกหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทน จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม หรือเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชานั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องหรือไม่ นั้นจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923-8927/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้างในคดีล้มละลาย: อำนาจฟ้องและสิทธิการเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. และค่าจ้างของโจทก์ก็จ่ายจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
และเมื่อโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และค่าตอบแทนอื่น ๆ หรือเสนอเรื่องที่โจทก์ขอเข้าพิจารณาในที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาว่า ไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา โดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อประโยชน์ราชการไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ แม้ต่อมาผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 1 ให้งดเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 146 และโจทก์สามารถฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จชราภาพไม่ระงับ แม้มิได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มิใช่บทตัดสิทธิ
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักประกันสังคมจังหวัด เมื่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี โจทก์จะยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่ได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่มารับประโยชน์ทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ซึ่งมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการจ่ายเงินสมทบเมื่อลูกจ้างลาออก
เมื่อจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้วคือจำเลยที่ 2 ขึ้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนจำเลยที่ 2 หรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 23 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกมาอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อบังคับฯ ข้อ 9.15 ระบุว่า "ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าระหว่างนายจ้างกับบริษัทจัดการ หรือบริษัทจัดการกับสมาชิก ทายาท ตัวแทนของสมาชิก หรือผู้รับสิทธิประโยชน์ของสมาชิกผู้นั้น ในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนหรือการบริหารกองทุนหรือสิทธิหรือผลประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากกองทุนนี้ คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากตามที่ได้ระบุไว้ในวรรคแรกของข้อ 4.2.9" ก็ตาม แต่แนวทางระงับข้อพิพาทตามข้อบังคับฯ ดังกล่าวมิใช่ขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำข้อพิพาทให้คณะกรรมการกองทุนตัดสินก่อนก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยที่ 2 มีข้อบังคับฯ ระบุข้อยกเว้นที่สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบเพียง 6 ประการ ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างลาออกหรือการตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้กระทำผิดประการใดใน 6 ประการที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงานต่างชาติมีผลผูกพัน โจทก์ต้องดำเนินการอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องศาล
โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกันจดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลย โจทก์ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้ได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีข้อตกลงว่า ให้สัญญาฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของคู่สัญญา และสัญญาจ้างแรงงานข้อ 20 กำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกา และให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้ เพราะเป็นวิธีระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งและข้อตกลงนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายไทย และกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน & ความรับผิดนายจ้างในคดีค่าชดเชย
ความในมาตรา 125 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ที่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุดนั้นต่อเนื่องมาจากความในวรรคหนึ่งที่ว่าเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสหรือให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง แต่หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวแสดงว่านายจ้างหรือลูกจ้างไม่มีข้อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ความในวรรคสองจึงบัญญัติให้เป็นที่สุด ซึ่งหมายถึงเป็นที่สุดสำหรับนายจ้างหรือลูกจ้างด้วย มิใช่เป็นที่สุดเฉพาะในทางบริหาร
เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม จึงเป็นปริยายว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจโต้แย้งหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้อีกได้ กรณีมิใช่เรื่องการนำบทบัญญัติมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายโดยไม่ชอบ
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/25 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าชดเชยต่อโจทก์แต่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975-3976/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษทางวินัย: ศาลยืนคำพิพากษาลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นให้ออก เนื่องจากพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง
แม้โจทก์ทั้งสองกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยทุจริตต่อหน้าที่เอาเงินของจำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่จำเลยมีอำนาจตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด ที่จะเลือกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกได้ ตามความร้ายแรงแห่งกรณีการกระทำความผิด ประกอบกับโจทก์ทั้งสองทำงานมาเกือบ 30 ปี เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก เงินที่โจทก์ทั้งสองทุจริตเอาไปมีจำนวนเพียง 300 บาทเศษ และ 1,200 บาทเศษ ตามลำดับ ทั้งโจทก์ทั้งสองรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การสอบสวนมีเหตุอันสมควรลดหย่อนโทษ การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสองถึงขั้นไล่ออกจึงหนักเกินไป ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย และให้เปลี่ยนโทษไล่ออกเป็นให้ออกกับให้จำเลยจ่ายเงินทุนบำเหน็จและเงินประกันการทำงานคืนแก่โจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากนายจ้างที่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ไม่ได้ทำงานต่อเนื่อง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาว่าจำเลยเป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมา แต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยแม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อทำลายและกำจัดโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(2) และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน ทั้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้มีหลักเกณฑ์และไม่ได้มีการประเมินผลตัวโจทก์ หลังจากเลิกจ้างโจทก์แล้วยังรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสหภาพแรงงาน: สิทธิของลูกจ้างต้องเป็นผู้ฟ้องเองหรือมอบอำนาจ
สมาชิกของสหภาพแรงงานโจทก์แต่ละคนหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะได้รับหรือจ่ายค่าจ้างที่ยังขาดอยู่อีกร้อยละห้าสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ และตามสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของสมาชิกโจทก์สามารถบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญาจ้างแรงงานได้โดยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล ซึ่งจะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือจะแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความ หรือจะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานที่ตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 36 ก็ได้ เมื่อสมาชิกโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยและมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแทน แต่โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานฟ้องจำเลยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 และมาตรา 31
of 17