คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 25

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 964 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16434-16650/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-ทำงานวันหยุด: งานท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่ขนส่ง จ่ายตามประกาศ รัฐวิสาหกิจ
กิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือ จำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า แต่กำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่โกดังหรือที่ลานกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่ของจำเลยเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป งานที่โจทก์แต่ละคนทำอยู่ในส่วนงานปฏิบัติการเพื่อรองรับการให้บริการในกิจการท่าเรือกรุงเทพของจำเลย ลักษณะของกิจการและลักษณะการทำงานที่จำเลยที่ให้ลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ทำที่ท่าเรือกรุงเทพจึงเป็นเพียงการให้บริการการใช้ท่าเรือและขนถ่ายสินค้าจากเรือนำไปเก็บไว้เพื่อรอให้ผู้มีอำนาจรับสินค้ามารับไปจากท่าเรือของจำเลย โดยมิได้ทำให้สินค้าเคลื่อนที่พ้นจากบริเวณท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า อันเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเรือสินค้ากับการขนส่งด้วยยานพาหนะอื่นเท่านั้นไม่ใช่การทำงานขนส่ง จึงไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 40 (2)
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคมิได้จ่ายให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 37 และ 38 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีการปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์หรือยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 หรือมาตรา 25 ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ข้อ 7
การที่จำเลยถือมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2526 ให้หน่วยงานของจำเลยคืองานของท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่ง แล้วไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068-9346/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินเพิ่มจากมติคณะรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในสถานะพนักงาน ณ วันที่มติมีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7724-8191/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการปรับเพิ่มเงินเดือนของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างก่อนวันมีมติปรับเพิ่ม
การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอขอปรับเพิ่มเงินเดือนถือว่าเป็นการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าจ้าง แต่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งสำเนาข้อเรียกร้องให้นายทะเบียนทราบ ไม่มีการระบุชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นผู้แทนในการเจรจาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่มีการแจ้งชื่อผู้แทนจำเลยในการเจรจาแก่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและเมื่อตกลงกันได้ตามรายงานการประชุมก็ไม่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้แทนในการเจรจาทั้งสองฝ่ายแล้วประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน อันเป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 25, 26, 27 คงมีแต่รายงานการประชุมซึ่งลงชื่อผู้จดรายงานเพียงผู้เดียว การประชุมระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับจำเลยจึงเป็นเพียงการตกลงร่วมกันเพื่อให้จำเลยพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือน ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6, 28 เมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นชอบด้วยในการปรับเพิ่มเงินเดือน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเห็นสมควรปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจ มาตรา 13 วรรคสาม
การพิจารณาว่ามติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยมีผลครอบคลุมถึงพนักงานกลุ่มใดต้องพิจารณาจากฐานการคิด เหตุผล และข้อมูลที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติโดยใช้ข้อมูลเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมการของจำเลยซึ่งอยู่ภายใต้หลักการที่จำเลยตกลงกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ปรับเพิ่มเงินเดือนให้เฉพาะพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน โจทก์ทั้งสี่ร้อยหกสิบแปดซึ่งออกจากงานไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือนย่อมไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ออกคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
การที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบให้จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนถือเป็นการให้ความเห็นชอบในสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 วรรคสาม
of 97