คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ม. 30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการคิดดอกเบี้ยตามสิทธิหลังการซื้อขายทรัพย์สินภายใต้พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อหนี้สถาบันการเงินและการเรียกร้องดอกเบี้ย ผู้ค้ำประกัน และผลของการฟื้นฟูกิจการ
ส. มิได้เป็นพนักงานของโจทก์แต่เป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารและบริการทรัพย์สินสินเชื่อที่โจทก์ซื้อมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และ ส. มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้การที่ ส. ตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่า ส. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร จึงสามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การที่ ส. เบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วง จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ปิดประกาศขายสินทรัพย์ที่หน้าที่ทำการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับไม่น้อยกว่า 3 วัน รวมทั้งได้ประกาศขายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงชอบด้วยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง และถือเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่จำเลยยอมผูกพันตนต่อบริษัทเงินทุน ธ. เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท อ. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยย่อมเกิดมีขึ้นเมื่อบริษัท อ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ บริษัทเงินทุน ธ. ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้แต่เวลานั้น จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้ของบริษัท อ. ระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680, 686 และ 698 การที่บริษัท อ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ทำให้บริษัทดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิด คงมีผลทำให้ความรับผิดของบริษัทดังกล่าวลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยลดลงตามจำนวนที่บริษัทดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
บริษัทเงินทุน ธ. เป็นสถาบันการเงินจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (2) ไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654 บริษัทเงินทุน ธ. จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุน ธ. มาตามสัญญาขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทดังกล่าวมีต่อบริษัท อ. และจำเลย แล้วโจทก์ใช้สิทธิของบริษัทเงินทุน ธ. ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8170/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเข้าทำสัญญาซื้อทรัพย์สินหลังการประมูล การโอนสิทธิเรียกร้อง และความผูกพันของสัญญา
ตามข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ อนุญาตให้บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ประมูลซื้อสินทรัพย์ได้เข้าทำสัญญากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้ แสดงว่าผู้ที่เข้าทำสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ประมูลซื้อสินทรัพย์ได้เท่านั้น โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในการเข้าทำสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมาจากบริษัทเงินทุน ก. ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลและในวันที่โจทก์ทำสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าทำสัญญากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และเมื่อผู้ที่ประมูลซื้อสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องในคดีนี้คือบริษัทเงินทุน ก. ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิในการเข้าทำสัญญาขาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาและไม่ต้องปฏิบัติตามข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอราคา
ข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ ที่กำหนดว่า หากผู้ชนะการประมูลต้องการเสนอให้ผู้อื่นลงนามในสัญญาขายแทน ผู้ชนะการประมูลจะต้องระบุชื่อพร้อมกับยื่นเอกสารของผู้ที่จะลงนามในสัญญาขายตามที่ระบุในรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมมายังองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินภายใน 2 วันทำการ นับจากวันประมูลนั้นเป็นเพียงระเบียบที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินกำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกและความเป็นระเบียบในการประมูล มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของระชาชนที่หากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ การที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ได้ยึดถือข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์ ฯ ดังกล่าวที่กำหนดเกี่ยวกับวันเวลาในการเสนอบุคคลอื่นเข้าทำสัญญาแทนผู้ชนะการประมูลจึงไม่ทำให้สัญญาขายเสียไป
การที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินออกข้อสนเทศการจำหน่ายสินค้าทรัพย์ ฯ โดยกำหนดให้ผู้ที่ชนะการประมูลโอนสิทธิที่ผู้ชนะการประมูลมีอยู่ให้แก่ผู้อื่นโดยให้ผู้อื่นเข้าทำสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เป็นการกำหนดขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการจัดการสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการประมูลโดยเปิดเผยตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 วรรคห้า แล้ว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและการบังคับใช้ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
เมื่อธนาคาร น. ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้างที่แล้ว ธนาคาร น. ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาจากธนาคาร น. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้างต้นเช่นกัน เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 5 บัญญัติไว้มีใจความว่า นับแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ซึ่งลูกหนี้เป็นบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 5 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ เท่านั้น ส่วนเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 5 ข้างต้นจึงไม่มีผลบังคับแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมไม่ฟ้องคดีหลังยื่นขอรับชำระหนี้: สิทธิฟ้องของเจ้าหนี้ที่ถูกจำกัดภายใต้ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ได้บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การ" แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับได้เฉพาะในกรณีที่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้วเท่านั้น และเมื่อคดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้แก้ไขฟื้นฟูฐานะตามแผนที่จำเลยที่ 2 เสนอเช่นนี้ โจทก์จะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์หาได้ไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และ 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โจทก์จึงต้องอยู่ในบังคับของหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 3.2 เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งให้ระงับกิจการที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดดังกล่าวต้องให้ความยินยอมที่จะไม่ฟ้องคดีสถาบันการเงินนั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเท่ากับว่า โจทก์ต้องผูกพันตามข้อกำหนดในการยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินนั้นเป็นคดีต่อศาลด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของกองทุนรวม, สิทธิเรียกร้องหลังถูกระงับกิจการ, และดอกเบี้ยหลัง พ.ร.ก. ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
บริษัทจัดการกองทุนรวมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่จะฟ้องให้บริษัทหลักทรัพย์ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ขายให้กองทุนรวมได้
การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่น สิทธิฟ้องร้องทางเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใด หากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นเป็นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อฟังได้ว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 26 บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างการดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
บทบัญญัติตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การ ปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิหลังถูกระงับการดำเนินกิจการ และผลกระทบของ พรบ.ฟื้นฟูฯ ต่อดอกเบี้ย
โจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามมาตรา 117 ถึงมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ส่วนที่มาตรา 124 บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวม มาตรา 124 วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 125 โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้ ไม่ต้องให้กองทุนรวมฟ้องเอง
การที่บริษัทจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิแก่โจทก์จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ในหุ้นกู้ด้อยสิทธิกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญหรือไม่เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอนกันเมื่อจำเลยถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ จำเลยกลับเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว แม้จำเลยยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ยังไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สามัญก็ตาม
พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5ที่บัญญัติว่านับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทถูกระงับการดำเนินกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้นั้นเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าวแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงคดีแรงงาน และอำนาจฟ้องของเจ้าหนี้ในคดีปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7(3) และมาตรา 16(3)แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีแรงงาน และข้อยกเว้นการห้ามฟ้องคดีระหว่างการฟื้นฟูสถาบันการเงิน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และมาตรา 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต