คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 48 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12008/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คดีอาญาเด็ก – ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน – การจำกัดสิทธิอุทธรณ์ – การแก้ไขบทกฎหมายอาญา
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในคดีเยาวชน: ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
การที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันพิพากษาหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต มีกำหนด 1 วัน ไม่ถือเป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกาขณะ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มีผลใช้บังคับ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นก็เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากผู้พิพากษาที่จะอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้ได้คือ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือกำหนดระยะเวลาการฝึกและอบรมให้ต่ำลง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าว ตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 (2) ทั้งเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 และในกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5860/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลเยาวชนและครอบครัวเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งอบรมเยาวชน ไม่ถือเป็นการลงโทษตาม ป.อ. และจำกัดสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริง
การที่ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี เป็นส่งจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี นับแต่วันพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 และมาตรา 124

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งดุลพินิจศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีอาญา ถือเป็นการฎีกาต้องห้าม
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ยังคงเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมอันเป็นการกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มารา 104 (2) แม้ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จะโต้แย้งว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 เพียงแต่ขอให้ศาลมอบตัวจำเลยที่ 1 ให้บิดามารดาเพื่อดูแลแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 และไม่มีบทบัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ และแม้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้นแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/53)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาไม่ถือเป็นการจับ การนับระยะเวลาฟ้องคดีอาญาในคดีเยาวชนและครอบครัว
การที่จำเลยถูกจับในคดีอื่นและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับจึงไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของพนักงานสอบสวนและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 51 และ 53 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือผัดฟ้องหรือต้องได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5750/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุจำเลยขณะกระทำผิดสำคัญต่อการลงโทษ ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 ลงโทษจำคุกแต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมซึ่งสอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ไปขับเล่นประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้ แม้ยังมิได้ฟ้องหย่า คดีกระทบสิทธิครอบครัว อุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 9 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 122 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9054/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์ในการนำสืบหลักฐานความผิดฐานมีอาวุธปืน และการพิพากษาแก้โทษจำเลย
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนและ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4) บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป เพราะบุคคลอาจบรรลุนิติภาวะก่อนอายุ 20 ปี ได้ด้วยการสมรสด้วย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองอายุไม่ถึง 20 ปี โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนด้วยเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาในการยิงปืนเข้าบ้านผู้เสียหาย ไม่ถือเป็นความพยายามฆ่า หากมีเจตนาข่มขู่แก้แค้น
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
จำเลยกับ จ. ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองในระยะห่าง 14 เมตร โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่ตัวบ้าน มิได้เล็งปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับ จ. มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใด อีกทั้งจำเลยให้ปากคำว่ายิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 2 เพียงแค่ข่มขู่และแก้แค้นผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่ใช้ไม้ตีทำร้ายจำเลยกับ จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าใคร พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหาย
of 5