คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 16

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงาน และความรับผิดของนายจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ซ. ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2543 บริษัท ซ. ได้โอนย้ายโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยินยอม โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 2 และโจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยที่โจทก์อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ตามที่มีโอกาสซึ่งหากโจทก์ไม่ยินยอมโจทก์กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในการทำงาน โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและหัวหน้างานกระทำการล่วงเกินทางเพศ ทำให้โจทก์ไม่อาจทนทำงานอยู่ได้จำต้องลาออกจึงฟ้องขอเรียกค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2543 ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับแล้ว ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง อันเป็นข้อห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้จึงต้องลาออก จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 นอกจากเป็นการทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการล่วงเกินทางเพศแก่โจทก์ในระหว่างช่วงวันที่ 16 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2544 และตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานกระทำการล่วงเกินทางเพศและฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัท ถือเป็นกรณีร้ายแรงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นว่าพนักงานทดลองงานจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ การที่โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากไม่ไป โจทก์จะเสนอความเห็นไม่ยอมให้ผ่านการทดลองงาน หรือโจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงาน แสดงว่า โจทก์ประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศนั่นเอง นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลยและความเจริญของกิจการ โดยทำให้พนักงานที่ไม่ยอมกระทำตามความประสงค์โจทก์และถูกโจทก์กลั่นแกล้งขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสตามผลประกอบการและผลงานของพนักงาน นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจำเลยไม่ได้จ่ายโบนัสเพราะผลประกอบการขาดทุน อุทธรณ์โจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสในปี 2542 เพราะในปีดังกล่าวจำเลยมีผลกำไรในการประกอบการเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง