คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 13

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,669 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3451-3452/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแก้ไขข้อพิพาทแรงงาน: การหยุดงาน การเจรจา และผลผูกพันทางกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 ลูกจ้างโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมดได้ชุมนุมกันหน้าบริษัทโจทก์โดยไม่เข้าทำงานเพราะไม่พอใจที่โจทก์จะงดจ่ายเงินโบนัสในปี 2543 ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 200 คนเศษ รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมด มีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในการเจรจา 8 คนในวันเดียวกันได้มีการเจรจาระหว่างผู้แทนโจทก์กับผู้แทนลูกจ้าง โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าร่วมในการเจรจาและลงชื่อด้วย การเจรจาสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสให้ในวันที่ 10 เมษายน 2544 และวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โจทก์จะไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่เข้าทำงานในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 และให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานปกติในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ทั้งได้นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2544 โจทก์ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในขณะนั้น ดังนี้ เห็นว่า เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ 250 คน ถึง 300 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่อย่างใดไม่ การที่บรรดาลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา จำเลยร่วมทั้งหมดกับพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้และพวกคนงานอื่นได้เริ่มมารวมตัวกันบริเวณหน้าบริษัทโจทก์ด้วยความสมัครใจเพื่อรอฟังว่าเพื่อนร่วมงานที่ชุมนุมต้องการอย่างไร หากต้องการชุมนุมต่อก็พร้อมจะชุมนุมด้วย หากจะกลับเข้าทำงานก็พร้อมที่จะเข้าทำงาน มีผู้แทนเจรจาบางคนช่วยชี้แจงถึงข้อตกลงที่ทำไว้และชักจูงให้พนักงานกลับเข้าทำงาน มีพนักงานบางคนเข้าทำงาน นาง ร. ขออนุญาตฝ่ายบริหารของโจทก์และชี้แจงให้พนักงานที่ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ หลังจากนั้นพนักงานทั้งหมดได้ขอกลับเข้าทำงานเมื่อเวลาประมาณ 7.15 นาฬิกา จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระหว่างเวลา 7 นาฬิกา ถึง 7.15 นาฬิกา แต่พนักงานเหล่านี้มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาให้นายจ้างได้รับความเสียหายและมิได้มีเจตนากระทำความผิดอาญาต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างขอกลับเข้าทำงานแล้ว ฝ่ายนายจ้างจัดให้ลูกจ้างรออยู่ที่โรงอาหาร จากนั้นผู้บริหารของโจทก์ซึ่งรวมถึงกรรมการผู้จัดการได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างเหล่านี้โดยกล่าวขอให้พนักงานร่วมมือกันทำงานและลืมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเสีย โดยผู้บริหารของโจทก์พูดในลักษณะขอให้เลิกแล้วต่อกัน ให้ร่วมมือกันทำงานต่อไปโดยจะไม่นำเรื่องใด ๆ จากเหตุการณ์นี้มาเป็นข้อบาดหมางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีก โจทก์ได้หักค่าจ้างลูกจ้างที่ชุมนุมกันในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 และเข้าทำงานเกินไปจากเวลาทำงานปกติเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งการหักค่าจ้างนี้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่โจทก์ใช้แก่พนักงานที่เข้าทำงานสายอันมีลักษณะเป็นการทำโทษพนักงานที่ทำผิดข้อบังคับในการทำงาน โจทก์จึงมีการกระทำหรือพฤติการณ์ที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้โดยฝ่ายโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างลูกจ้างคนละ 1 ชั่วโมง สำหรับการเข้าทำงานสายในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 แล้ว โจทก์ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นแก่ลูกจ้างเหล่านี้อีก ดังนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใดที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 มาลงโทษด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12088/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตมาตรา 20 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์: ข้อตกลงสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น หมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้น นายจ้างจึงสามารถทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างใหม่ให้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มิได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องได้ เมื่อประกาศของจำเลยได้ประกาศจ่ายค่าเที่ยวแก่ลูกจ้างผู้ขับรถบรรทุกหัวลากแต่ฝ่ายเดียว แล้วมีการถือปฏิบัติจ่ายค่าเที่ยวเรื่อยมาจนกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ก็ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้น จำเลยจึงสามารถทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ โดยตกลงยกเว้นสิทธิประโยชน์บางส่วนตามประกาศได้ ไม่ขัดต่อ มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681-2683/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องโบนัสและการยินยอมของลูกจ้าง การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มติคณะรัฐมนตรีที่ยกเว้นให้จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงานโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย มีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น มิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัสมิได้เกิดจากข้อเรียกร้องจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงสามารถออกประกาศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 13
โจทก์ยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จ่ายเป็นค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือน ตามประกาศของจำเลยแทน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้มีผลแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ซึ่งสามารถกระทำได้และขณะนั้นจำเลยยังมิได้จ่ายเงินโบนัสประจำปีดังกล่าวให้แก่พนักงานจึงมีผลใช้บังคับ ไม่เป็นการย้อนหลังจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681-2683/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องโบนัส ไม่ขัดมติคณะรัฐมนตรีและ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
มติคณะรัฐมนตรีที่ยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย อันมีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น มิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัส มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้าง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างไปจากเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ นายจ้างสามารถออกประกาศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องหรือตกลงโดยปริยายได้ หากนายจ้างประสบวิกฤตและลูกจ้างยินยอม
การตกลงกำหนดค่าจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ การที่จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4371-4451/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้แทนสหภาพแรงงานเจรจาต่อรอง และผลผูกพันข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นนายจ้างขอให้พิจารณาจัดเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่พนักงานและจำเลยที่ 8ยืนยันความมั่นคงในเรื่องโบนัส เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงิน อัตรากำลังคนกับปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้วยที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงาน ท. ได้ให้การรับรองและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ 8 จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2)มาตรา 13 วรรคสามและมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ได้เข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ 8 ตามมาตรา 16 จนทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ได้ โดยเฉพาะเงินโบนัส ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาย่อมทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินโบนัสกับจำเลยที่ 8 ได้ตามมาตรา 18 โดยมิจำต้องให้ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานท. มีมติให้การรับรองอีกครั้ง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. ตามมาตรา 19 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117-4287/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพจ้างเรื่องโบนัสมีผลใช้บังคับต่อเนื่อง หากไม่มีการแก้ไขหรือตกลงใหม่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เฉพาะปี
จำเลยกับสหภาพแรงงานทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกในปี 2539 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับไว้ คงกำหนดเพียงว่าสหภาพแรงงานจะไม่เรียกร้องโบนัสประจำปีเป็นระยะเวลา 2 ปี กำหนดระยะเวลานี้จึงหาใช่กำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ แต่เป็นข้อตกลงยอมสละสิทธิการเรียกร้องเรื่องโบนัสภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ทั้งข้อความที่ว่าจะไม่เรียกร้องเรื่องโบนัสเป็นระยะเวลา 2 ปี แสดงให้เห็นว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องโบนัสไม่ได้มีลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะในปีแรกที่ทำข้อตกลงเท่านั้น กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 12
ข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างฉบับแรก ย่อมมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่วันที่ตกลงกัน หลังจากใช้บังคับครบหนึ่งปีแล้วไม่มีการตกลงกันใหม่ ข้อตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี หาใช่สิ้นผลเมื่อใช้บังคับครบ 2 ปี ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ซึ่งจำเลยได้จ่ายโบนัส สำหรับปี 2539 และปี 2540 แก่ลูกจ้างครบถ้วนแล้ว ครั้นในปี 2541 จำเลยประสบปัญหาขาดทุน จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงฉบับที่สองกับสหภาพแรงงานโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสเฉพาะปี 2541 เป็นให้จ่ายในอัตราเฉลี่ย 1.29 เท่าของเงินเดือน ส่วนเงื่อนไขการจ่ายโบนัสประการอื่นคงให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม และลูกจ้างทุกคนยอมรับ ถือได้ว่าข้อตกลงฉบับที่สองเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่คู่กรณีทำขึ้นเพื่อแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมฉบับแรก แม้ข้อตกลงฉบับที่สองจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างน้อยกว่าข้อตกลงฉบับแรก ก็มีผลใช้บังคับได้ และเมื่อหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามข้อตกลงฉบับที่สอง มีข้อความลักษณะให้ใช้บังคับเฉพาะการจ่ายโบนัสในปี 2541 เท่านั้น จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสตามอายุงานในปี 2539 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรก มาใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี 2541 ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับที่สองได้กำหนดไว้ด้วยว่า เงื่อนไขการจ่ายโบนัสในเรื่องอื่นนอกจากหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสดังกล่าวยังคงใช้บังคับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในฉบับแรก ดังนั้น หลังจาก ข้อตกลงฉบับที่สองใช้บังคับครบกำหนดแล้ว หลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี 2541 ตามข้อตกลงฉบับนี้ ย่อมสิ้นผลและไม่อาจนำไปใช้บังคับแก่การจ่ายโบนัสในปี 2542 ได้ ต่อมาในปี 2542 สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับที่สาม กำหนดให้มีผลใช้บังคับ 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา และระบุว่าสภาพการจ้างใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตามเดิม โดยไม่ได้กำหนดเรื่องโบนัสไว้เช่นนี้ เกี่ยวกับเรื่องโบนัสในปี 2542 จำเลยจึงผูกพันจะต้องจ่ายโบนัส ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมในฉบับแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง การเปลี่ยนแปลงโทษทางวินัยที่หนักขึ้นทำไม่ได้หากไม่ได้รับความยินยอม
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย มีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อบริษัทจำเลยได้มีประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลงการลงโทษทางวินัยลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 กำหนดไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลง หรือฝ่ายลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแต่อย่างใด เพียงแต่บริษัทจำเลยได้ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ แม้จะไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือว่าลูกจ้างให้ความยินยอมที่บริษัทจำเลยเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว ดังนั้น ประกาศของจำเลย จึงไม่มีผลใช้บังคับกับบรรดาลูกจ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286-5363/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ คณะรัฐมนตรีปรับลดโบนัสรัฐวิสาหกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ขัดต่อข้อตกลงสภาพการจ้าง
ธนาคารออมสิน จำเลย เป็นกิจการของรัฐ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 และโจทก์ทั้งหมดมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย โจทก์ทั้งหมดและจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แม้จำเลยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จะมีบทเฉพาะการในมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ยังคงใช้บังคับต่อไป ก็มิได้หมายความว่าห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่อาจดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งบัญญัติถึงวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้โดยให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในกิจการของเอกชนเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจด้วย ทั้ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ก็มิได้มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนั้น ประกอบกับรัฐวิสาหกิจเป็นกิจการของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปเพิ่มวงเงินเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนที่เบิกจ่ายได้จริงมีจำนวนสูงขึ้นและรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ให้แก่พนักงาน คณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ลงได้ไม่เป็นการลงมติย้อนหลัง และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลงทุกแห่ง ทุกคน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใด มติคณะรัฐมนตรีจึงมีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้าง: อำนาจการพิจารณาขึ้นค่าจ้าง & การแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยและลูกจ้างของจำเลยได้กำหนดระเบียบการขึ้นค่าจ้างไว้โดยระบุว่า การขึ้นค่าจ้างตามเวลาที่กำหนด พนักงานตั้งแต่ระดับหัวหน้าผู้ควบคุมงาน (CHIEF FOREMAN) ลงมาจะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 21 มิถุนายน และวันที่ 21ธันวาคม ของทุกปี แต่ต้องเป็นผู้ที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 6 เดือนขึ้นไปเป็นข้อตกลงที่จำเลยและสหภาพแรงงาน ได้ร่วมกันพิจารณาและตกลงร่วมกันจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทั้งสองฝ่ายคือ นายจ้างและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เมื่อข้อตกลงไม่มีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าการพิจารณาขึ้นค่าจ้างตามข้อตกลงในข้อนี้ ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานลูกจ้างของจำเลยตามสภาพความเป็นจริงได้จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ หากในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่นั้น จำเลยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กิจการขาดทุนและจำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยการแจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จำเลยจึงต้องปฏิบัติตาม
แม้ว่าข้อตกลงจะใช้ถ้อยคำว่า "...จะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง" ก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวก็มีความหมายว่าจำเลยจะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดมีผลงานประเมินอย่างไร อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างหรือไม่ หากอยู่ในเกณฑ์ได้รับการขึ้นค่าจ้าง ค่าจ้างที่ปรับขึ้นเป็นจำนวนเท่าใดเท่านั้นมิใช่เป็นการให้อำนาจแก่จำเลยที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ก็ได้
of 167