พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่อุทธรณ์เหตุแก้ข้อกฎหมายใหม่ การบังคับคดีล้มละลายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดไว้ชั่งคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8434-8436/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเกษียณอายุพนักงานหญิงก่อนพนักงานชาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับในขณะนั้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 ซึ่งเป็นมาตราแรกของหมวดนี้บัญญัติว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ดังนั้น สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยตามหมวด 3 จึงหมายถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองไว้สำหรับการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐแก่ชนชาวไทย ไม่ใช่การใช้อำนาจโดยปัจเจกบุคคลแก่ชนชาวไทย ตามคำฟ้อง คำให้การ และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นองค์กรของรัฐ ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงาน พ.ศ.2537 ของจำเลยที่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลยจึงเป็นระเบียบที่ใช้บังคับระหว่างจำเลยผู้เป็นปัจเจกบุคคลกับลูกจ้างของจำเลย (รวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วย) ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลด้วยกัน ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" นั้น ในกรณีของปัจเจกบุคคลต่อปัจเจกบุคคลด้วยกันต้องพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติในแต่ละกรณีไป ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับขณะนั้น คือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในเรื่องให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงเท่าเทียมกันในการจ้างงาน ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุ พ.ศ. 2537 ของจำเลย ข้อ 2 กำหนดการครบเกษียณอายุของพนักงาน ข้อ 2.1 ก. ที่ให้พนักงานชายตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการชั้นต้นถึงเจ้าหน้าที่บริหารเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ข้อ 2.2 ก. ที่ให้พนักงานหญิงในระดับเดียวกันเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี บริบูรณ์ จึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม และไม่อยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8187/2543
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิ่มเติมฟ้องแก้ฐานความผิดของจำเลยที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และการใช้พยานหลักฐานจากการล่อซื้อยาเสพติด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น" และมาตรา 164 บัญญัติว่า"คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิด การเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น" เมื่อโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการแก้ฐานความผิด ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้