คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 82/5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8303/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบกำกับภาษีที่ไม่ตรงตามทะเบียน ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ถือเป็นข้อความไม่ถูกต้อง
ป.รัษฎากร มาตรา 86/4 บัญญัติว่า ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ... (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องให้ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตรงกับรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ทั้งโจทก์ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ออกใบกำกับภาษีแก้ไขแล้ว แต่ผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาทไม่ยินยอมแก้ไขให้ เพียงแต่รับรองว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกให้แก่โจทก์จริง ดังนั้น แม้ใบกำกับภาษีพิพาทระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ไม่ตรงหรือไม่ครบถ้วนตามรายการที่จดทะเบียน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่ถือว่าใบกำกับภาษีพิพาทที่โจทก์ได้รับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 โจทก์จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพิพาทมาหักในการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตภาษีมูลค่าเพิ่มบริการขนส่งระหว่างประเทศ และการหักภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อง
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลภาษีอากรกลางในการวินิจฉัยเรื่องเหตุอันควรงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์สำหรับแต่ละเดือนภาษีพิพาทรวม 5 ฉบับ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องพิจารณาตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินในแต่ละเดือนภาษี ถือว่าแต่ละเดือนภาษีพิพาทเป็น 1 ข้อหา แยกออกจากกันได้เมื่อเดือนภาษีพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2548 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละเดือนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์จะมีการทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม แต่ลักษณะสำคัญของการให้บริการโดยตรงของโจทก์คือการให้บริการรับขนสินค้าออกนอกราชอาณาจักรหรือรับขนสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำการขนส่งสินค้าหรือได้ใช้บริการขนส่งสินค้านั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนที่ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้เมื่อภาษีซื้อพิพาทไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักรหรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรโจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อที่ถูกเรียกเก็บในแต่ละเดือนภาษีพิพาทดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการนี้ได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชอบด้วยกฎหมาย และการหักภาษีซื้อจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
แบบขออนุมัติใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่ง ป.รัษฎากร ได้ระบุรายละเอียดการขออนุมัติประเมิน ประเด็นความผิดที่ตรวจพบรายการด้านซื้อว่าภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 จึงปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ที่ให้เจ้าพนักงานประเมินขออนุมัติอธิบดีให้ประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคท้าย และบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินต้องขออนุมัติอธิบดีประเมินภาษีและอธิบดีต้องอนุมัติเมื่อใด การที่ ก. ผู้รักษาราชการแทนสรรพากรภาค 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีอำนาจในการอนุมัติขยายเวลาประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร เป็นผู้ลงนามอนุมัติในแบบขออนุมัติใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว คำสั่งอนุมัติและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ซื้อทรัพย์สินตามสัญญาโดยมีเจตนาให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จและใช้ประโยชน์เป็นโรงงานผลิตปูนซิเมนต์เช่นเดียวกับเจตนาเดิมของบริษัท ป. ผู้ขาย จึงเป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการของบริษัท ป. ไม่ใช่เป็นการซื้อขายสิทธิตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง การที่สิ่งปลูกสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ยังไม่มีการรับมอบงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ยังไม่ได้ใช้ประกอบกิจการ ตลอดจนไม่มีการจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หามีผลทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวเปลี่ยนสภาพเป็นไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ไม่ ภาษีซื้อตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงนำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 และเมื่อเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 69 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายงานภาษีซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้มีการแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีโดยทุจริต
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยพิจารณาจากยอดซื้อเฉพาะที่ปรากฏในรายงานภาษีซื้อของโจทก์ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 ส่งมาให้เท่านั้น มิได้พิจารณายอดซื้อตามใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีที่โจทก์มอบหมายให้ทำบัญชีส่งมอบเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีส่งมอบเพื่อประกอบยอดซื้อตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ถูกแก้ไขในการทุจริตโกงเงินภาษีที่นำส่งจำเลยซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีในส่วนนี้ตามเช็คที่ได้เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยแล้ว แต่ยอดซื้อตามรายงานภาษีซื้อของโจทก์ที่ไม่รวมส่วนที่สำนักงานบัญชีและเจ้าพนักงานของจำเลยร่วมกันทุจริตก็ปรากฏว่ายังมีภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 เนื่องจากเป็นยอดซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อที่มีข้อความไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ค่าใช้จ่ายรถยนต์ หรือไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาแสดง และยอดซื้อจากใบกำกับภาษีปลอม ดังนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีไม่นำบัญชีเอกสารมาให้ตรวจสอบ และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการเก็บรักษาเอกสาร
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้รับจ้างจัดทำบัญชีและเอกสารคืนโจทก์ และโจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษีได้ เพราะโจทก์ไม่ทราบว่ามีใบกำกับภาษีอะไรบ้างนั้น มิใช่กรณีที่ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าข้อยกเว้น ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 82/5 ที่จะนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงจึงออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 19 แต่โจทก์ส่งเพียงเอกสารบางส่วนจากพนักงานสอบสวนไปให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อข้อความตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรฯ มาตรา 19 ประกอบมาตรา 71 (1) มิได้หมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71 (1) ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงานเลย แต่ยังหมายความรวมถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มายื่นต่อเจ้าพนักงานแล้วแต่ยังไม่เพียงพอแก่การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิด้วย เมื่อโจทก์ประกอบกิจการขายสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ หากจะเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นโจทก์จะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้ากำหนดตามข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285ฯ การที่โจทก์มอบเอกสารหลักฐานทางบัญชีให้ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีนำไปเก็บไว้ ณ สำนักงานบัญชี โดยไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 โจทก์จึงอ้างเอาเหตุที่ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีไม่ยอมส่งเอกสารคืนโจทก์มาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่ได้ และการไม่สามารถส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย แม้ในที่สุดโจทก์จะสามารถนำเอกสารบางส่วนจากพนักงานสอบสวนส่งไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ แต่เอกสารบางส่วนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะคำนวณหากำไรขาดทุนสุทธิได้ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 71 (1) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8915/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายทรัพย์สินระหว่างก่อสร้างและการมีไว้เพื่อประกอบกิจการ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่องการกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2(4) กำหนดเพียงว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต่อมาได้ขายไปภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มิได้กำหนดว่าอาคารที่ขายต้องก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์หรือต้องขายในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ดังนั้น แม้อาคารที่โจทก์จะขายยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์และขายให้แก่บริษัทซึ่งประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อดังกล่าวก็ต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
วัตถุที่โจทก์นำมาก่อสร้างอาคารเป็นวัตถุมีรูปร่างย่อมเป็นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 แล้ว มิใช่ว่าหากนำมาก่อสร้างอาคารจะเป็นทรัพย์เมื่อก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ อาคารดังกล่าวติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 139 การที่โจทก์ขายอาคารจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ และการที่โจทก์ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เป็นการประกอบกิจการของโจทก์ จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ แม้โจทก์จะยังมิได้ใช้อาคารดังกล่าวก็ตาม
คำฟ้องของโจทก์จะมีกี่ข้อมิใช่อยู่ที่โจทก์ขายทรัพย์สินกี่ครั้งหากแต่อยู่ที่สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องซึ่งตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละฉบับรวม 17 ฉบับกับการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 1 ฉบับไม่ถูกต้อง ซึ่งการประเมินแต่ละรายไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องจึงมี 18 ข้อหา ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีซื้อของผู้ประกอบการขายมันสำปะหลังที่ไม่จดทะเบียนขายภายในประเทศ
การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออก เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 81/3 (1) ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่เดือนภาษีได้ ตามมาตรา 82/3 ดังนั้น หากผู้ประกอบการ มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักรย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะประเภทการค้าส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดเท่านั้น มิได้จดทะเบียนขายภายในประเทศ และจำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลย เพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นการขายที่มิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อคืนภาษีคืนให้แก่จำเลย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืน เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมิใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร แต่จำเลยกลับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีซื้อเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของโจทก์คืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน จึงต้องคืนเงินภาษีดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีซื้อของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการส่งออก และการฟ้องเรียกคืนภาษีที่ได้รับไป
การขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดที่มิใช่การส่งออกเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มาตรา 81/3(1) บัญญัติให้ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการดังกล่าวขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักจากภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการย่อมไม่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวตามมาตรา 82/3
กรมสรรพากรโจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ด แต่จำเลยไม่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดด้วยตนเองเลยเพียงแต่ขายให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่งจึงเป็นการขายที่จำเลยมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ก) จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอภาษีซื้อคืน แต่จำเลยยังยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ขอคืนภาษีซื้อ เป็นการสำแดงภาษีซื้อที่เป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อคืนภาษีซื้อให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมคืน โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยนำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 คำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลหนี้ที่แน่ชัด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุถึงมูลหนี้และเหตุที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยแจ้งชัดแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6402/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การขอคืนภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่า และการงดเบี้ยปรับ
โจทก์ปลูกสร้างอาคารสรรพสินค้าด้วยสัมภาระของโจทก์บนที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาเช่าจากกรมการศาสนา โดยโจทก์ตกลงยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้ตกเป็นของกรมการศาสนาทันที ดังนั้น การที่กรมการศาสนาได้กรรมสิทธิ์ในบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างก็เนื่องมาจากข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยผู้เช่าแสดงเจตนาไว้ชัดแจ้งถึงการยกกรรมสิทธิ์ให้ทันทีเพื่อให้สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินส่วนควบติดกับที่เช่าตลอดไป จึงเป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า ซึ่งหากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจจะตกลงให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินในทันทีได้ ฉะนั้น อาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมการศาสนาโดยนิติกรรม หาใช่โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้จำหน่าย จ่าย โอนอาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า อันเป็นการ "ขาย"ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 91/1(4) ที่ได้ให้คำนิยามว่า "ขาย"หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
กรณีของโจทก์เป็นการขายอาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่าจากกรมการศาสนาและเป็นการขายภายในกำหนด 3 ปี นับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่เช่าจากกรมการศาสนาเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารสรรพสินค้าบนที่ดินที่เช่าจากกรมการศาสนามาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การไม่เก็บรักษาเอกสารและนำภาษีซื้อที่ไม่ถูกต้องมาหักลดหย่อน ทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับ
การที่โจทก์ไม่เก็บรักษาเอกสารใบกำกับภาษีซื้อไว้เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3 ต้องเสียเบี้ยปรับร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิตตามมาตรา 89(9) และการที่โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อหรือใบแทนใบกำกับภาษีซื้อมาแสดงให้เห็นว่ามีการชำระภาษีซื้อ ซึ่งต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5(1) แต่โจทก์นำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) ด้วย เพราะเป็นความผิดที่แยกจากกันได้
of 2