คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 70

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 214 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยผิดนัด และการแก้ไขคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15186-15192/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมของนายจ้างและผู้รับเหมาช่วงในค่าจ้างแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวระบุว่า ป. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาจากจำเลยที่ 2 แม้สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่กฎหมายมิได้บังคับให้สัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อมีการเข้าทำงานก่อสร้างในโครงการดังกล่าวบางส่วนและจำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างในส่วนของงานที่ก่อสร้างไปแล้ว หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานในส่วนดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ารับเอาผลงานที่โจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดของ ป. เป็นการทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้อันเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามมาตรา 70 และตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้าง เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานก่อสร้างดังกล่าวจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งทำสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานพร้อมแบบหล่อคอนกรีตกับจำเลยที่ 2 โดยรับจะดำเนินงานแต่บางส่วนของงานดังกล่าวอันเป็นงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงตามบทนิยามในมาตรา 5 ดังนั้น หากโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายด้วยตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิไล่เบี้ยเงินค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดคืนจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 12 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9395-9492/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าจ้างหลังปรับโครงสร้างเงินเดือน: ศาลฎีกาให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาข้อตกลงโดยปริยาย
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาว่า การพิจารณาความดีความชอบในขณะใดๆ ให้องค์การค้าคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้นๆ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาความดีความชอบของโจทก์ในรอบปีบัญชี 2546 ถึงปี 2547 แล้วยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีคำสั่งว่าเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่การค้างจ่ายค่าจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนี้ เมื่อฝ่ายโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกลาว จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 12 และเมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีฯ จึงยังไม่มีค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นแก่ฝ่ายโจทก์ ตาม พ.รงบ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 70 คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9395-9492/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าจ้าง กรณีการปรับโครงสร้างเงินเดือนตามมติ ครม. และข้อตกลงสภาพการจ้าง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาความดีความชอบของโจทก์ในรอบปีบัญชี 2546 ถึงปี 2547 แล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีคำสั่งว่าเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่การค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนี้ เมื่อฝ่ายโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 และเมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ฯ จึงยังไม่มีค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นแก่ฝ่ายโจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาบริการ, สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน, การแบ่งแยกข้อพิพาท
ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า "ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท" กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ที่โจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782-8785/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาของพนักงานตรวจแรงงาน ศาลเพิกถอนคำสั่ง
ก่อนจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสภาพการจ้างของโจทก์ โดยมาพบและสอบปากคำ อ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่ง อันเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 27 และ 29 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แต่กรณีนี้เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยเนิ่นช้าโดยให้โอกาสโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้างและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและการทำงาน ณ สถานประกอบการของโจทก์ โดยสอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามกำหนด และสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70, 9 และ 75 อาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน โดยให้ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่รับคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวโจทก์ผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้ปฏิบัติอย่างไร คำสั่งจึงมีความหมายชัดเจนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 34 แล้ว แม้เหตุผลของคำสั่งจะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นการเร่งด่วนที่ไม่นำมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโดยการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง มิได้สั่งภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782-8785/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งทางปกครองที่ออกเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นโมฆะ, การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น
ก่อนจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสภาพการจ้างของโจทก์โดยมาพบและสอบปากคำ อ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโจทก์และพนักงานอื่น ๆ ของโจทก์ก่อนมีคำสั่ง อันเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 27 และ 29 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้โจทก์มีโอกาสทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานในส่วนของโจทก์ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งแต่กรณีนี้เป็นเรื่องให้โจทก์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นเรื่องความสงบในทางอุตสาหกรรม หากปล่อยเนิ่นช้าโดยให้โอกาสโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ย่อมเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้างและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) คำสั่งดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 128/2543 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้ตรวจสภาพการจ้างและการทำงาน ณ สถานประกอบการของโจทก์โดยสอบถามข้อเท็จจริงและตรวจสสอบเอกสารประกอบแล้ว ปรากฎว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามกำหนดและสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายเงินแก่ลูกจ้างซึ่งไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 70, 9 และ 75 อาศัยอำนาจตามมาตรา 139 (3) สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ (1) ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติให้ลูกจ้างที่สั่งพักงานและมิได้ทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วนและตรงตามกำหนดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (2) ให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้างที่สั่งพักงานและทำงานในโรงงานปั่นด้าย เอ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน โดยให้ปฏิบัติตาม (1) และ (2) ภายใน 7 วัน นับแต่รับคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวโจทก์ผู้รับคำสั่งย่อมทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้ปฏิบัติอย่างไร คำสั่งจึงมีความหมายชัดเจนตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 34 แล้ว แม้เหตุผลของคำสั่งจะมิได้มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้าง จึงถือเป็นการเร่งด่วนที่ไม่นำมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสามของมาตรานี้
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานไว้เป็นการเด็ดขาด เมื่อการพิจารณาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโดยการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง มิได้สั่งภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดงานงดจ้างชอบด้วยกฎหมายเมื่อเจรจาข้อเรียกร้องไม่เป็นผล แม้มีการลงชื่อในบันทึกข้อตกลงบางส่วน
การที่สหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อโจทก์(นายจ้าง)หลายข้อ แต่ผู้แทนโจทก์ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องเพียง 2 ข้อ ตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ มิได้ยอมรับ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้น การเจรจาตกลงกันในวันที่ 28 มีนาคม 2544 จึงสิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนโจทก์ไม่ไปเจรจาตามนัด และไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงาน ฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไปลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ตกลงไว้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 นั้น ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงที่สิ้นผลไปแล้ว กลับมามีผลได้อีก จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
of 22