คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ม. 11 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 38 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8628/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างและข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี
ขณะโจทก์ถูกเลิกจ้าง ธนาคาร ศ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร ศ. ติดต่อกัน 11 ปีเศษ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) มติคณะรัฐมนตรีที่ให้สถาบันการเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพียงให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเข้าแทรกแซงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้นเท่านั้น มิได้มีข้อความให้ยกเว้นมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อเลิกจ้างจึงยังคงเป็นไปตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้ดังกล่าว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) ที่ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631-635/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบฯ ของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เกษียณหรือลาออกก่อนกำหนด
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดอันเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และจำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 แต่มติคณะรัฐมนตรีและประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่กำหนดให้พนักงานได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว จึงไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ที่ 3 ได้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 6 เดือน หรือ 180 วัน เท่านั้น ไม่มีสิทธิได้รับจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ปฏิบัติงานบกพร่องและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
หนังสือกระทรวงการคลังที่ขอยกเว้นให้สถาบันการเงินที่เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบแล้ว ระบุให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซง คงได้รับเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงานตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้น ไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่รัฐวิสาหกิจอิงมาใช้ แต่ไม่ปรากฏว่าก่อนที่ธนาคารจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนไปเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ได้กำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานสูงกว่าสิทธิที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพึงได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 การที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 180 วัน ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำตาม พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 (3) จึงเป็นการจ่ายที่ชอบแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง หากเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มิได้มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบ การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการผิดสัญญา เพียงแต่อาจต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง และเมื่อจำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาด้วยการเลิกจ้างโจทก์ได้ตามกฎหมาย ย่อมมิใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดการควบคุมดูแลและการปฏิบัติงานเรื่องการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม จนทำให้จำเลยเสียหายแต่ไม่ร้ายแรง และโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่มิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 หมายถึงตัวแทนได้กระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจก็ดี ต่อมาตัวการรู้ถึงการกระทำที่ทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกอำนาจของตัวแทนแล้วตัวการได้ให้การรับรองการกระทำดังกล่าวของตัวแทน แม้จำเลยจะรับเอาผลประโยชน์จากการกู้เงินที่เกิดจากการกระจายหนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยรับเอาผลประโยชน์ จำเลยได้รู้ถึงการกระทำนอกขอบอำนาจของโจทก์หรือไม่ เช่นนี้ไม่อาจถือว่าเป็นการให้สัตยาบันในการกระจายหนี้ของโจทก์
ที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้จำเลยไม่ทักท้วงก็ไม่อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวกลายเป็นการกระทำที่ชอบขึ้นมาได้ การที่จำเลยไม่ทักท้วงหรือกล่าวหาลงโทษโจทก์ อาจเป็นเพราะยังไม่ทราบการกระทำผิดหรือยังไม่เกิดความเสียหายจากการกระทำผิดเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์กระทำผิด จำเลยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุมจนเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย ถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยด้วยการกระจายหนี้เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอีกเช่นกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทั้งสองประการดังกล่าว จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่สุจริต/ไม่อาจไว้วางใจ: สิทธิค่าชดเชยและโบนัส
คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต สอบสวนรับบุคคลที่ ขาดคุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างของจำเลย บันทึกรายการขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าที่เป็นเท็จ จัดทำคำขอกู้ให้ แก่บุคคลดังกล่าวด้วยวงเงินกู้สูง และมีพฤติการณ์มีส่วนรู้เห็นกับการที่มีบุคคลภายนอกเรียกหรือรับผลประโยชน์จากลูกค้าเป็นค่าวิ่งเต้นในการเข้าเป็นลูกค้าเพื่อกู้เงินจากจำเลยซึ่งจำเลยอาจปรับเข้ากับข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้าง ข้อ 5 (4) ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วยการทุจริตต่อหน้าที่ได้ แต่กลับปรากฎตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่จำเลยตั้งขึ้นว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตาม ข้อ 3 (4) (6) (7) (10) แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ สมควรเลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน การถอดถอนสำหรับพนักงาน ข้อ 19 (2) ด้วยเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และต่อมาจำเลยก็มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบสวนโดยอ้างเหตุว่าการกระทำของโจทก์ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียง ของจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 6 ระบุว่าไม่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยข้อบังคับของจำเลย หมวด 4 การถอดถอนข้อ 19 (2) เพราะไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อันเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ประสงค์ลงโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกหรือปลดออกเนื่องจากโจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยประสงค์เลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุไม่อาจไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 46 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ก็ตาม แต่ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 45 ก็ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างในหลักเกณฑ์เดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เป็นเพียงการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องเท่านั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง
ระเบียบฉบับที่ 33 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานของจำเลย ข้อ 2 กำหนดว่าพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาครบในรอบปีใดจะได้รับเงินโบนัสในรอบปีนั้นตามกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ถ้าพนักงาน ผู้ใดไม่เคยลา?จะได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวน? ส่วนข้อ 3 ถึง 9 ของระเบียบดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่าย เงินโบนัสสำหรับพนักงานของจำเลยที่ทำงานไม่ครบรอบปีบัญชีจากสาเหตุกรณีต่าง ๆ เช่น ลาออก ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ถูกเลิกจ้างเป็นต้น สำหรับหลักเกณฑ์ตามข้อ 10 วรรคสอง ก็เป็นกรณีที่พนักงานที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในระหว่างรอบบัญชีของปีนั้น ๆ หาได้หมายความถึงพนักงานที่ทำงานครบรอบปีจนมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนดังที่ระบุไว้ในข้อ 2 (1) ไม่ โจทก์ทำงานครบรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 แล้ว จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 และโจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งอยู่ในระหว่างรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2540 ถึง 31 มีนาคม 2541 โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินโบนัสเต็มจำนวนสำหรับรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 ตามระเบียบของจำเลยข้อ 2 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755-8784/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจกระทบสิทธิค่าชดเชย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไม่ครอบคลุม
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้เข้าถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินและเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เกินกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายน 2541 สถานภาพของจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนมาเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ทั้ง พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (2) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 (2) บัญญัติมิให้นำ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจ จึงไม่อาจนำ มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับนับแต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ต้องรับสิทธิของโจทก์ ที่จะได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สิทธิของโจทก์จะได้รับค่าชดเชยเพียงใดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยจัดสิทธิประโยชน์ไว้สูงกว่าระเบียบดังกล่าว โจทก์ถูกเลิกจ้างหลังจากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติ และระเบียบ ดังกล่าว ข้อ 45 เมื่อโจทก์รับค่าชดเชยตาม ข้อ 45 ไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่ เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีก
of 4