คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 192

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,100 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า โดยพิจารณาเจตนาและขอบเขตการใช้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานยักยอกทรัพย์โดยเจ้าพนักงาน แม้ฟ้องผิดบทมาตรา ศาลอุทธรณ์ลงโทษได้ตามความผิดที่บรรยายฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีฉ้อโกงและการพิจารณาความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้
ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกความเท็จในคดีแพ่งมีผลต่อความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีอาญา หากข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้ววินิจฉัยในทำนองว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นเท็จหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้อุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ความในข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นอ้างได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ vs. ขู่เข็ญทำให้ตกใจกลัว ศาลพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาของผู้กระทำ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 โดยมิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 392 แม้การที่จำเลยใช้มีดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือตกใจเป็นความผิดตาม มาตรา 392 ก็ตาม แต่ความผิดฐานนี้ไม่ใช่การกระทำอันรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 392 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16490/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องยักยอกทรัพย์ต้องระบุทรัพย์สินที่ถูกยักยอกอย่างชัดเจน หากนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ฟ้อง ศาลไม่อาจลงโทษได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของที่ใช้ประกอบอาหาร สุรา บุหรี่ และของใช้ทั่วไป แล้วร่วมกันเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปขาย และเบียดบังยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง แต่กลับนำสืบว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำทรัพย์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารไปใช้ที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ไม่ใช่ยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ในสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16251/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเรื่องการฟ้องอาญาที่ไม่ตรงตามฟ้องเดิม และคดีขาดอายุความ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินโดยการโอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาเป็นค่ารับรอง ค่าเลี้ยงดู เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมงานได้เสนอเรื่องให้ ช. พวกของจำเลยทั้งสองใช้อำนาจในฐานะที่เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างได้มีคำสั่งให้บริษัท ซ. หยุดงานในวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 อ้างว่าเนื่องจากแนวส่งท่อน้ำมีปัญหาจะต้องมีการแก้ไขแบบในการก่อสร้าง แทนที่จะใช้อำนาจดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนผิดสัญญา โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 ซึ่งองค์ประกอบความผิดเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15913/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความในคดีข่มขืนกระทำชำเรา: ผลกระทบต่ออำนาจฟ้องและการระงับคดี
โจทก์บรรยายฟ้องในคำฟ้องอ้างเหตุที่เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะเป็นการโทรมหญิงเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าธารกำนัล แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แสดงว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล และเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังไม่ได้ว่าการร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม คงเป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ย่อมตกลงยอมความกันได้ตามมาตรา 281 เมื่อมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13090/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ต้องระบุเขตโรคระบาด หากมิได้ระบุ ศาลไม่อาจลงโทษได้
ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในท้องที่จังหวัดซึ่งได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนบ้านของผู้อื่น แม้ไม่เสียหาย แต่ทำให้สิ้นสภาพการอยู่อาศัย ถือเป็นทำให้เสียทรัพย์ได้
แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56
of 210