คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 192

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,100 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22056/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงจำกัดตามโทษที่กฎหมายกำหนด แม้รับฟ้องแต่ขาดอำนาจพิจารณาคดี
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 โดยบรรยายฟ้องรวมกันมา จึงเป็นกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่หากพิจารณาได้ความตามฟ้อง ศาลต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. 90 เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท กรณีจึงเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 เห็นได้ว่าศาลสามารถที่จะลงโทษจำเลยในบทมาตราที่ถูกต้องได้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. แล้ว หากศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองรวมการกระทำความผิดหลายอย่าง และแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณารับฟ้องโดยชอบมาแต่ต้นแล้วนั้น เห็นว่า ข้อกฎหมายที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นฎีกาเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น และการจะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับนั้น ศาลชั้นต้นต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณารับฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18281/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉี่ยวชนทางถนน: ความรับผิดทางอาญาแม้ข้อกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
แม้ข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อโดยประมาทเฉี่ยวชนถูกไหล่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกจากรถ แล้วรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เสียหลักล้มลง แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อโดยประมาทเฉี่ยวชนถูกโจทก์ร่วมที่ 1 แต่เมื่อผลคือโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17581/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง – อำนาจสอบสวน – ความน่าเชื่อถือพยาน – ข้อพิรุธการเบิกความ
แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโท อ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรี ว. ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรี ต. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรี ต. ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 3 กรรม คือ ครั้งแรกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ครั้งที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และครั้งที่ 3 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2550 อยู่ด้วยในตัว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับผู้เสียหายมาอยู่ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าวจริง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างไปจากที่โจทก์บรรยายในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15214/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ใช้/สนับสนุนการลักทรัพย์: การบรรยายฟ้องและการลงโทษตามบทบัญญัติที่เหมาะสม
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้เด็กชาย น. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 จึงลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ได้ เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการสนับสนุนให้เด็กชาย น. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่ง ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แต่เมื่อได้ความว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวการ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517-14520/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมสำนวนคดีและการลงโทษจำคุกกระทงละเดือน ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาเนื่องจากนับโทษต่อกันเกินคำขอ
ศาลสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์แยกฟ้องมารวมสี่สำนวน โดยโจทก์ไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง จำคุก 9 เดือน นั้น มีผลเท่ากับนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันทั้งสี่สำนวน จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองวัตถุออกฤทธิ์เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด และการพิสูจน์ความผิดของจำเลยร่วม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไดเมทิลแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่โจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามที่ฟ้องไว้ คงอ้างเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) ซึ่งเป็นประกาศระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์เท่านั้น และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 104 (พ.ศ.2541) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ใช้อยู่ในขณะมีการกระทำความผิดก็ไม่มีระบุว่า ไดเมทิลแอมเฟตามีน หรือเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา106 ทวิ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ทวิ ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดเฉพาะข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าวซึ่งมีโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9002-9003/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – การยกข้อเท็จจริงใหม่ & การรวมโทษที่ไม่ชอบ – ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเพื่อความสงบเรียบร้อย
ฎีกาของจำเลยว่า จำเลยซื้อรถยนต์ของกลางพร้อมกับรับมอบเอกสารชุดโอนลอยของกลางจากพนักงานขายรถยนต์โดยไม่รู้ว่าเป็นรถที่ถูกลักมาและเอกสารชุดโอนลอยเป็นเอกสารปลอม เป็นฎีกาในทำนองปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพและในชั้นอุทธรณ์จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นมาอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยไม่ชอบอย่างไร แต่จำเลยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาซ้ำอีก จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นฎีกา และไม่ได้เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์แยกฟ้องคดีเป็นสองสำนวน ซึ่งคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษต่อกันไม่ได้ แม้ศาลจะรวมพิจารณาและพิพากษาทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้รวมโทษทุกกระทงความผิดทั้งสองสำนวน จึงมีผลเท่ากับนับโทษจำเลยแต่ละสำนวนต่อกันจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8927/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษายกฟ้องคดีฉ้อโกงเนื่องจากฟ้องไม่ชัดเจนและนอกเหนือจากประเด็นที่ฟ้อง
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องระบุการกระทำความผิดว่าจำเลยทั้งสามหลอกลวงให้ลงทุนในบริษัท อ. ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 90,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิด ส่วนการติดต่อชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้จ่ายเงินจำนวน 1,462,500 บาท เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5569/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ, ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน, และการพิพากษาเกินคำขอ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และรุกล้ำที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาท การที่จำเลยทั้งสิบว่าจ้างผู้ออกแบบอาคารพิพาทและใช้วิศวกรควบคุมการก่อสร้างคนเดียวกัน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทในคราวเดียวกัน และดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทพร้อมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเป็นตัวการร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะ
เมื่อจำเลยทั้งสิบทราบคำสั่งของเทศบาลตำบลแก่งคอยที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ จำเลยทั้งสิบไม่ปฏิบัติตาม ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไป จึงเป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และร่วมกันดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่
ขณะจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ การก่อสร้างอาคารพิพาทเริ่มไปได้ประมาณ 3 เดือน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเพียงก่อสร้างฐานราก แต่จำเลยทั้งสิบดำเนินการต่อไปอีกเป็นเวลานานปีเศษ ทั้งในระหว่างนั้นจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งแจ้งเตือนให้ระงับการก่อสร้างด้วยเหตุเดียวกันอีกหลายครั้ง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ออกตามกฎหมาย ประกอบกับการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยทั้งสิบมีผลทำให้การใช้ประโยชน์สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สะดวกและขัดข้อง จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษจำเลยทั้งสิบให้เบาลง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่สาธารณะที่รุกล้ำ ไม่ได้มีคำขอให้เว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตร เมื่อที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณะตามฟ้องมีความกว้าง 1.50 เมตร ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตรตลอดแนว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสิบได้ความว่า ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาท มีการร่นระยะด้านหน้าอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกผิดแผกไปจากแผนผังบริเวณ และได้ความว่า ความยาวของที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกไม่เท่ากัน ข้อเท็จจริงไม่ได้ความชัดว่าด้านหลังอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกแต่ละด้านรุกล้ำที่สาธารณะมากน้อยเท่าใด ประกอบกับการออกจากที่สาธารณประโยชน์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนจะต้องปฏิบัติด้วยการรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่รุกร้ำ เมื่อยังไม่ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตของอาคารพิพาทส่วนที่ต้องรื้อถอน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันออกไปจากที่สาธารณประโยชน์ด้านหลังอาคารพิพาท .60 เมตร จึงไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ชอบที่โจทก์จะไปว่ากล่าวดำเนินคดีต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปล้นทรัพย์-กรรโชกกรรมเดียว: ศาลฎีกายืนโทษจำเลยฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยพิจารณาจากเจตนาและพฤติการณ์ต่อเนื่อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน 40,000 บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 35,000 บาท แต่ทางพิจารณาได้ความผู้เสียหายให้เงิน 50,000 บาท ถือเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดเพราะไม่ว่าเป็นเงินเท่าใดก็เป็นความผิด และไม่มีจำเลยคนใดหลงต่อสู้ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
of 210