คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 9

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่ารายปีต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการท่าเรือฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่า ท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของ กทท. ที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงเป็นหน้าที่ของ กทท. ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ กทท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 เมื่อไม่ปรากฏว่า กทท. ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินนั้นควรจะได้รับยกเว้นหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
ปัญหาว่าค่ารายปีควรเป็นเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร กทท. จึงต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แต่ไม่ปรากฏว่า กทท. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อ กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 31 วรรคท้าย กทท.และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13854/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่าเช่าที่ดินโรงเรียนเอกชน และการคืนค่าขึ้นศาล
จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน 709,532.42 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยปรับลดลง 1,704,192.58 บาท คำชี้ขาดจึงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์บางส่วนแล้ว แต่สำหรับในส่วนที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น หากโจทก์ไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ เมื่อในส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เพราะฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
นอกจากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว โจทก์ยังเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อน ค่าบัตรร่วมงานประจำปี ค่าสมาชิกศิษย์เก่า แม้โจทก์เป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนามีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนาให้การศึกษาและดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลต่าง ๆ อีกทั้งไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเรียนจากนักเรียนยากจน นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของครูและพนักงานในโรงเรียน และนักเรียนบางรายซึ่งติดค้างไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการเรียนได้ก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาอันไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9
สำหรับโรงเรียนของโจทก์เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของดำเนินกิจการเอง ทางนำสืบไม่ปรากฏโรงเรียนที่ตั้งในเขตเดียวกับโรงเรียนโจทก์มาเทียบเคียงได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินตามหลักเกณฑ์ที่มีการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดค่าเช่ามาตรฐานสอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีโรงเรียนเอกชนอื่นแตกต่างออกไป นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีคำชี้ขาดลดค่ารายปีแต่ละปีโดยคำนวณลดลงปีละ 3 เดือน ตามที่โจทก์อ้างว่ามีการหยุดเทอมภาคฤดูร้อน ทั้งที่ปรากฏตามทางนำสืบว่า โจทก์มีการเรียกเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อนแสดงว่ามีการเรียนการสอนในระยะเวลาดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เป็นคุณแก่โจทก์ในส่วนนี้ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร ไม่ได้รับการยกเว้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ (3) ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงต้องประกอบด้วยลักษณะสามประการ กล่าวคือประการแรก เป็นโรงเรียนสาธารณะ ประการที่สอง จะต้องกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และประการที่สาม จะต้องใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น
ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 แสดงให้เห็นว่า การกระทำกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างเช่นมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่หาผลกำไรได้
กิจการมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นกิจการที่กระทำเพื่อหวังผลกำไรโดยแท้ และเมื่อผู้รับใบอนุญาตสามารถได้รับการจัดสรรผลกำไรได้ตามที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติไว้ จึงเป็นกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล
เมื่อโจทก์กระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลแล้ว การที่ผู้รับใบอนุญาตที่จะได้รับปันผลเงินคืนจะมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรหรือไม่ เป็นคนละกรณีกันกับโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี แม้เคลื่อนย้ายได้
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางในเรื่องการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 6,600 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด เพราะเป็นการประเมินและคำชี้ขาดโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด เป็นการฟ้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย
ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งแม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีนั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5
ทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อบริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ตู้โทรศัพท์สาธารณะของรัฐวิสาหกิจไม่เข้าข้อยกเว้น แม้ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างถาวร
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องร้องว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดโจทก์มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้นและในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษี ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ก็มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามมาตรา 5
บริษัทโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดังเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8807/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะ: การพิจารณาคุณสมบัติ 'สิ่งปลูกสร้าง' และข้อยกเว้นสำหรับรัฐวิสาหกิจ
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีเป็นที่สุด" เป็นการระบุว่าเฉพาะกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินสูงเกินสมควรให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีได้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูปซึ่งวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินและไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีการฝังเสาลงไปในดินและบุคคลอาจเข้าอยู่และใช้สอยได้เท่านั้น เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 สำหรับทรัพย์สินที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดั่งเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 9 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4003/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงเรียนเอกชน การพิสูจน์ว่าโรงเรียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศล และการใช้ประโยชน์เพื่อหารายได้
ผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำแทนมิซซังตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ข้อ 2 วรรคสองมีอยู่ 2 คน คือ อ. ที่โป๊ปได้แต่งตั้งมา และถ้าไม่มีตัวอยู่คนที่เป็นผู้แทนอีกคนหนึ่งคือผู้บัญชาการของมิซซังมิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานครโจทก์มี ค. เป็นมุขนายกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ในการปกครองดูแลมิซซัง จึงถือว่า ค. เป็นผู้บัญชาการของมิซซังมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมีอำนาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนต่อไป เมื่อ ค. มอบอำนาจให้ ป. ฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อ ป. มอบอำนาจให้ ม. และหรือ ว. ฟ้องคดีแทน ม. และหรือ ว. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
แม้คณะเทศมนตรีไม่ใช่นิติบุคคล แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นคณะเทศมนตรี โดย ศ. นายกเทศมนตรีในฐานะประธานกรรมการผู้มีอำนาจรับคำร้องและวินิจฉัยแจ้งคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของผู้ร้องอุทธรณ์ตามกฎหมาย ถือได้ว่าโจทก์ฟ้อง ศ. นายกเทศมนตรีในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะเทศมนตรี เพื่อให้ ศ. ในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาดเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9(3) ต้องมีลักษณะเป็นโรงเรียนสาธารณะ กระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และจะต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนเป็นอัตราแน่นอนและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งมีรายได้แต่ละปีเป็นจำนวนมาก และโจทก์ยังใช้สถานที่ของโรงเรียนหารายได้นอกเหนือจากการศึกษา โดยนำไปให้บุคคลภายนอกใช้และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจึงมิใช่เป็นการกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและมิได้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เมื่อโรงเรียนของโจทก์ไม่ใช่ลักษณะของโรงเรียนตามมาตรา 9(3) โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3818/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพิจารณาค่ารายปี, การลดหย่อนภาษีจากเครื่องจักรกล, และการยกเว้นภาษีจากโรงเรือนปิด
การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินกฎหมายให้ประเมินจากค่ารายปีกรณีไม่อาจทราบค่ารายปีได้จากค่าเช่าที่สมควรให้เช่าในปีหนึ่ง ๆจึงต้องประเมินโดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาถัดจากปีที่ต้องเสียภาษีขึ้นไปมาเป็นหลักในการคำนวณ มิใช่นำเอาค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วหลายปีมาเป็นหลักในการประเมิน โจทก์ติดตั้งเครื่องจักรกลเป็นส่วนควบสำคัญของอาคารเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม จึงมีสิทธิได้ลดค่ารายปีเหลือหนึ่งในสามและโรงเรือนที่ปิดตลอดปีย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินก็เป็นเรื่องที่ชี้ขาดไปตามอำนาจหน้าที่ มิได้ชี้ขาดโดยแกล้งให้โจทก์ต้องรับผิดค่าภาษีต่อจำเลยที่ 1 และมิใช่ผู้ที่รับเงินภาษีไว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะให้จำเลยที่ 2ร่วมคืนเงินค่าภาษีให้แก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5167/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การลดหย่อนภาษีจากโรงเรือนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์, โรงเรือนที่รื้อถอน, และการประเมินค่าโรงเรือนประเภทอุตสาหกรรม
การลดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 เป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีกรณีโรงเรือนถูกทำลาย และยังมิได้ทำขึ้นใหม่เท่านั้น จะตีความเลยไปว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ถึงกำหนดการยื่นรายการเพื่อชำระภาษีด้วยไม่ได้ เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นกรณีทรัพย์ถูกทำลายแล้ว ซ่อมเสร็จในทันใดก็จะลดค่ารายปีลง ดังนั้นการยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีใดก็เพื่อเสียภาษีในปีนั้น เมื่อปรากฏว่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ปิดไว้และงดใช้ประโยชน์ตลอดปีภาษีและโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วก่อนปีภาษี โจทก์ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 9(5) บัญญัติไว้ การประเมินให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนดังกล่าวจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ โรงเรือนที่ใช้เป็นโรงงานในการประกอบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการกำหนดค่ารายปีจึงไม่อาจนำดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยมาเทียบเคียงได้เพราะเป็นโรงเรือนคนละประเภท เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีโดยไม่ได้คำนึงถึงค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 แล้ว การ กำหนดค่ารายปี ตลอดจนการคำนวณภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชี้ขาดการประเมิน เมื่อผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าการประเมินชอบแล้ว ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่มีการประเมิน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 แกล้งชี้ขาดให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ค่าภาษีที่โจทก์ชำระก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 รับผิดคืนภาษีที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้ต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1698/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับหอพักที่เจ้าของอยู่อาศัยด้วย และความผิดฐานละเลยการยื่นแบบแสดงรายการ
ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินทุกชนิด เว้นแต่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 9 และ 10 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2475 มาตรา 3 โรงเรือนของจำเลยใช้ทำเป็นหอพักโดยได้รับค่าตอบแทนและบริการอย่างอื่นจากผู้มาพักตามพระราชบัญญัติหอพัก แม้จำเลยจะอยู่อาศัยในหอพักนั้นด้วย โรงเรือนของจำเลยก็ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว การใช้เป็นหอพักได้ผลประโยชน์ตอบแทนเหมือนการใช้ประกอบกิจการอย่างอื่นจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 10 เมื่อจำเลยไม่ไปรับแบบพิมพ์มากรอกรายการยื่นภายในกำหนดตามประกาศ ย่อมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ของผู้รับประเมินที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงมีความผิดตามมาตรา 20,46
of 2