คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 161 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยประวิงการชำระหนี้ ทำให้โจทก์ยึดทรัพย์ได้ แม้ศาลยกคำร้อง การที่จำเลยต้องรับผิดค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์
การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากเงินที่มีการประมูลขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยตามคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่ยอมชำระราคาค่าซื้อรวมทั้งค่าธรรมเนียมการขายหลังจากจำเลยประมูลราคาซื้อได้แล้วโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนการชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาลชั้นต้นถือได้ว่าจำเลยเจตนาที่จะประวิงการบังคับคดีโดยไม่สุจริตเพื่อที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับการชำระเงินส่วนแบ่งตามสิทธิของโจทก์ดังนั้นการที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดที่ดินแปลงอื่นของจำเลยรวม4แปลงเพื่อบังคับคดีเอาเงินมาชำระส่วนแบ่งของโจทก์บ่องบอกเจตนาของโจทก์ได้ว่าโจทก์กระทำไปโดยสุจริตแม้ต่อมาศาลฎีกาจะพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินทั้งสี่แปลงของจำเลยก็ตามแต่การนำยึดที่ดินทั้งสี่แปลงของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่ามิได้เกิดเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์แต่อย่างใดจำเลยย่อมมีส่วนผิดที่ก่อให้โจทก์นำยึดที่ดินจำนวน4แปลงของจำเลยอันเนื่องมาจากการที่จำเลยประวิงการบังคับคดีจำเลยจึงควรเป็นฝ่ายต้องรับผิดเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดียึดแล้วไม่มีการขายแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา161วรรคหนึ่งประกอบมาตรา166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ สิทธิในที่ดิน การพิสูจน์การครอบครอง และการใช้ดุลพินิจของศาล
แม้ว่าผู้คัดค้านจะมิได้ปฏิเสธข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่า ต.ซื้อที่พิพาทโดยใส่ชื่อช. ไว้ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านก็ได้บรรยายไว้ในคำร้องคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิที่ผู้คัดค้านได้มาโดยซื้อมาจาก ช. ตามส่วนที่ช.เจ้าของเดิมมีอยู่ช. ได้บอกขายที่พิพาทก่อนผู้คัดค้านซื้อเป็นเวลานาน ถือว่าผู้คัดค้านได้กล่าวไว้ในคำร้องคัดค้านแล้วว่าช. เป็นเจ้าของที่พิพาท ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ม.มอบที่ดินให้แก่ ช. เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมเงินไปนั้น จึงเป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งการเป็นเจ้าของที่พิพาทซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะนำสืบได้ แม้ว่าผู้คัดค้านกล่าวในคำร้องคัดค้านเพียงว่า ช.เจ้าของเดิมได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมาไม่เคยทอดทิ้งก็ตามผู้คัดค้านก็ชอบที่จะนำสืบได้ว่า ช. ให้ จ. ป. และบุคคลอื่นเช่าที่พิพาทเพราะเป็นการนำสืบว่า ผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยให้บุคคลอื่นครอบครองแทน เป็นการนำสืบตามประเด็นที่เกิดจากคำร้องคัดค้าน หาใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่ แม้ว่าผู้คัดค้านอ้างเอกสารหมาย ค.10ค.11ค.15ถึงค.20และ ค.23โดยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของช. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านได้ความว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ก็ตาม แต่เมื่อตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ปรากฏว่าศาลได้รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ สำหรับเอกสารหมาย ค.10และค.17 แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ก็ตาม แต่ตามมาตรา 87(2) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพราะเอกสารหมาย ค.10 เป็นสัญญากู้ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องกับ ช. และผู้ร้องก็ได้นำสืบพยานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวด้วย ส่วนเอกสารหมาย ค.17 เป็นใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2513 ถึงปี 2525 ของ ช.จำนวน13ฉบับซึ่งช.ได้ส่งศาลตามคำสั่งเรียกก่อนวันสืบพยานนัดแรกเป็นเวลากว่า 1 เดือนผู้ร้องจึงมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวก่อนวันสืบพยานได้อยู่แล้วการที่ผู้คัดค้านมิได้ส่งสำเนาให้แก่ผู้ร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ร้อง ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานของผู้คัดค้านได้ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านอันดับ 8 ระบุว่า"เอกสารเรื่องราวการจดทะเบียนนิติกรรมตลอดจนบันทึกข้อความ แผนที่หรือถ้อยคำบุคคลใด ๆ หรือหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการ หรือบุคคล หรือเอกสารทุกชนิด ทุกฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับโฉนดที่ดินเลขที่ 906 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดทำและเก็บรักษาไว้ในแฟ้มเรื่องราวของโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวทั้งหมดทุกฉบับ อยู่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ" เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกคำบันทึกของ ส.ช่างแผนที่ที่ได้บันทึกถ้อยคำของ ฮ. ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน2528 คือวันทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 906หน้าโฉนด 156 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้จัดส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารบันทึกถ้อยคำของ ฮ. ไปให้ศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้หมายเอกสารนั้นเป็นเอกสารหมาย ค.49จึงฟังได้ว่าเอกสารหมายค.49เป็นเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอันดับที่ 8 ของผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้คัดค้านได้ระบุอ้างพยานเอกสารฉบับนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา88 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารหมาย ค.49ของผู้คัดค้านไว้เป็นพยานหลักฐานและอนุญาตให้ผู้คัดค้านนำสืบเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารฉบับนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาของผู้ร้องมิได้บรรยายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ในข้อไหน เป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงขึ้นกล่าวให้ชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นทำให้สับสนและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
เมื่อนำเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันทาถูนวดของจำเลยเปรียบเทียบกับของโจทก์ ปรากฏว่ากล่องของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ทั้งหกด้าน รูปร่างของกล่องตลอดจนฝากล่องก็เหมือนกัน สีสรรและลวดลายของภาพต่าง ๆ บนกล่องมีลักษณะคล้ายกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน นอกจากนี้ด้านหน้าของกล่องมีตัวอักษรที่เด่นชัดเหมือนกันคือคำว่า "น้ำมัน" แม้จะมีตัวอักษรที่ต่างกันคือ ของโจทก์ใช้คำว่า "มวย" ของจำเลยใช้คำว่า "กีฬา"กล่าวคือรวมแล้วของโจทก์ใช้คำว่า "น้ำมันมวย" ของจำเลยใช้คำว่า"น้ำมันกีฬา" แต่ตัวหนังสือดังกล่าวต่างก็เป็นตัวสีขาว และอยู่ในพื้นสีน้ำเงินเหมือนกัน โดยเฉพาะกล่องของจำเลยอยู่ในกรอบแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ด้วย สำหรับด้านหลังของกล่องซึ่งมีอักษรโรมัน แม้จะมีคำต่างกันกล่าวคือ ของโจทก์ใช้คำว่า "BOXINGLINIMENT" ของจำเลยใช้คำว่า "SPORTOIL" ก็ตาม แต่คำทั้งสองเป็นตัวสีขาวและอยู่ในกรอบสีน้ำเงินแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากันสีและลวดลายอื่น ๆ ของกล่องมีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเท่ากันสำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เลย ส่วนที่ฝากล่องกระดาษของโจทก์ด้านบนมีรูปดอกไม้และมีอักษรภาษาไทยคำว่า "ดอกไม้" แต่ที่ฝากล่องของจำเลยด้านบนมีรูปสิงห์ 5 ตัว เหยียบอยู่บนลูกโลกและมีอักษรภาษาไทยคำว่า "ตราห้าสิงห์เหยียบโลก" นั้น ก็มีลักษณะเล็กมากมองในระยะห่าง 1 เมตร จะอ่านตัวอักษรดังกล่าวของทั้งโจทก์และจำเลยไม่ออก อย่างไรก็ตาม รูปและอักษรดังกล่าวอยู่ในรูปวงกลมล้อมรอบ3 ชั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะวงกลมชั้นนอกเป็นวงกลมที่มีรอยหยักในลักษณะเหมือนกันและภาพนักมวยกำลังชกต่อยกันบนกล่องของโจทก์ซึ่งของจำเลยไม่มีก็เป็นเพียงภาพเงาและไม่เด่นชัด ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนในประเทศไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2527 ถึง30 ปี จึงเป็นการที่จำเลยมีเจตนาผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้แก่กันจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการโอนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2474(ฉบับที่ 1)ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2474 ข้อ 12 ซึ่งบังคับว่าต้องใช้แบบค.ม. 8 ก. เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่จำเลยอ้างว่าโจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้ ก. ไม่มีลักษณะเป็นการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าเป็นการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้ ท.แต่ระบุว่าโจทก์ให้ท. เป็นผู้ถือสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้แทนโจทก์โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทตลอดมาและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เต็มจำนวนนับแต่วันที่จำเลยทำละเมิด จำนวนเงินค่าทนายความที่ศาลกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลที่จะกำหนดให้ โดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการสู้ ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.
of 2