คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 226 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 185 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3202/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจัดหาติดตั้งเครื่องหม้อน้ำพลังงานชีวมวล ฟ้องแย้งเกี่ยวเนื่องพิจารณารวมกันได้
แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมที่รวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ไว้ด้วย แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในวันถัดจากวันที่ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. 226 (2)
ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์คือผลจากการที่โจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้เครื่องหม้อน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานตามสัญญา จำเลยจำเป็นต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา มูลหนี้ตามฟ้องแย้งคือความเสียหายที่จำเลยได้รับจากการผิดสัญญาของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิมแล้ว เมื่อจำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิอันเนื่องมาจากสัญญาจัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบเครื่องหม้อน้ำพร้อมอุปกรณ์เช่นเดียวกับที่โจทก์อ้างเป็นฐานแห่งมูลความคดี มูลคดีที่โจทก์ฟ้องและที่จำเลยฟ้องแย้งจึงเกิดจากสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ภายหลังโจทก์ยื่นคำฟ้องเดิม เป็นเพียงการแก้ไขความเสียหายของจำเลยที่มีอยู่ก่อนแล้ว หาใช่จำเลยถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิเมื่อจำเลยไปว่าจ้างบุคคลภายนอกไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18330/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรกรรมวิธีการสร้างสารกฤษณา: การพิจารณาขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและการไม่สมบูรณ์ของสิทธิบัตร
คำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
สิทธิบัตรของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณา โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรของโจทก์ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.82/2553 ให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์แล้วนั้น ไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยผิดนัด และการแก้ไขคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7929/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก: การโต้แย้งบัญชีระบุพยานล่าช้าทำให้ไม่อุทธรณ์ได้ และพินัยกรรมที่ทำโดยผู้ป่วยยังสมบูรณ์
การโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลาที่สมควรนั้น ต้องโต้แย้งภายหลังเมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ตามข้อเท็จจริงผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างตนเอง และหรืออ้างบุคคลอื่นเข้ามาเบิกความเป็นพยานได้ อีกทั้งพยานเอกสารที่ได้อ้างประกอบการถามพยานผู้ร้องที่ศาลแพ่งก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ อันมีผลเท่ากับให้ถือเอาบัญชีระบุพยานที่นาย ด. เคยยื่นไว้ก่อนถึงแก่ความตายเป็นบัญชีระบุพยานของผู้คัดค้าน และอนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ แต่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว จนกระทั่งถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
เมื่อพิจารณาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.3 แล้ว ปรากฏว่ามีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายและหัวแม่มือขวา และมีนาย อ. กับดาบตำรวจ ช. เป็นผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายไว้ ซึ่งตามพินัยกรรมระบุข้อความไว้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์หัวนิ้วมือซ้ายเป็นสำคัญต่อหน้าพยาน จึงเห็นได้ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือขวาของผู้ตายเป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเกินกว่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปแต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวยังมีผลสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13180/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งงดชี้สองสถานไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดเบื้องต้น โจทก์ไม่โต้แย้งเสียสิทธิอุทธรณ์
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2194/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ จำเป็นต้องวางค่าธรรมเนียมและหลักประกันตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งปัญหาข้อกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านคำสั่งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่นำค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ไม่รับอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสามฉบับของจำเลยที่ 2 นั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ 2 ก็ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตาม ป.วิ.พ. 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10348/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดีและคำร้องดำเนินคดีอนาถา กรอบเวลาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. และการพิจารณาพยานหลักฐาน
การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าไม่มีพยานมาไต่สวนให้เห็นได้ว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคห้า (เดิม) แต่มีกำหนดยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
เมื่อผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 1 เดือน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ชอบ และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องไว้พิจารณา การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งเพราะเหตุผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกิน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง จึงไม่ชอบและไม่ทำให้คดีเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8321/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องต้องโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาภายในเวลา หากไม่ทำสิทธิอุทธรณ์ระงับ
คำร้องขอขยายระยะเวลาของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกเหนือจากคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227, 228 ผู้ร้องจะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไป เว้นแต่ผู้ร้องจะไม่มีโอกาสที่จะโต้แย้งได้ การที่ทนายผู้ร้องได้ลงชื่อรับทราบในคำร้องฉบับดังกล่าวเพื่อให้มาฟังคำสั่งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 กรณีย่อมต้องถือว่า ผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึง 4 วัน ผู้ร้องย่อมมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนี้ได้ แต่ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้ง เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดีและยกคำร้องคนอนาถา ผู้ร้องอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226(2)
การที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นคนยากจนจริงโดยผู้ร้องขอให้พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนการพิจารณาคดีในวันนัดไต่สวนออกไป ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลา 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
แม้ทนายผู้ร้องจะอ้างความเจ็บป่วยของบิดาเป็นเหตุให้มาศาลตามกำหนดนัดไม่ได้ แต่ก็เป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ปรากฏเหตุสมควรที่จะทำให้เห็นได้ว่าทนายผู้ร้องต้องไปเฝ้าดูแลด้วยตนเองถึงขนาดที่จะมาศาลตามกำหนดนัดไม่ได้แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ร้องและพยานมิได้มาศาล พฤติการณ์ของทนายผู้ร้องและผู้ร้องส่อไปในทางประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานเข้าทำการไต่สวนให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องมีฐานะยากจนและยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินก่อนล้มละลาย: การโอนภายใน 3 ปี, เจตนาทุจริต, ราคาต่ำกว่าประเมิน
ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม)
of 19