คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมสันต์ ศุภศาสตรสิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 51 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15677/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนอง แม้คำขอท้ายฟ้องระบุเฉพาะการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และประสงค์จะบังคับทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกัน แม้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุเพียงว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นเดียวกัน แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 4 จะระบุเพียงว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งสิ้น และยินยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที แต่สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กล่าวไว้ว่าหากจำเลยผิดนัดแล้วให้โจทก์บังคับคดีได้แต่เฉพาะทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกันตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ที่ว่า โจทก์และจำเลยตกลงตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีกนั้น ก็หมายความแต่เพียงว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องเงินนอกเหนือไปจากจำนวนเงินหรือหนี้ที่ตกลงกันไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 4 เท่านั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15658/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีเกี่ยวกับยาปลอมและเครื่องสำอาง รวมถึงการลงโทษจำคุก
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า ยาที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตเป็นยาปลอมโดยใช้วัตถุเทียมในการผลิตยา และเป็นยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตไม่ตรงความจริง ส่วนตัวยาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และวัตถุเทียมในการผลิตยาคือวัตถุอะไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แม้ตอนต้นของฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานปลอมยา แต่ตอนท้ายบรรยายว่า เป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ขัดแย้งกันเพราะยาปลอมก็คือยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และความผิดฐานผลิตยาปลอม ฐานผลิตยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฐานผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม และฐานผลิตเพื่อขายซึ่งเครื่องสำอางควบคุมพิเศษโดยไม่แสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนหรือแสดงฉลากที่แจ้งแหล่งผลิตอันเป็นเท็จนั้น ไม่มีองค์ประกอบความผิดว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เมื่อจำเลยผลิตและมีไว้เพื่อขายยาปลอมและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และผลิตเพื่อขายหรือมีไว้เพื่อขายเครื่องสำอางย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการรับจำนองโดยสุจริต มีผลต่ออำนาจฟ้อง
โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14071-14072/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาและแพ่งจากการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และค่าธรรมเนียมศาล
กรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียม ส่วนที่มาตรา 253 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังต้องจัดการอะไรอีกเพื่อการบังคับ ผู้ที่จะได้รับคืนทรัพย์สินหรือราคาหรือค่าสินไหมทดแทน จักต้องเสียค่าธรรมเนียมดังคดีแพ่งสำหรับการต่อไปนั้น หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี และที่มาตรา 255 บัญญัติว่า ในคดีดังบัญญัติในมาตรา 253 วรรคสอง และมาตรา 254 ถ้ามีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 253 วรรคสอง หรือค่าธรรมเนียมในคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ตามมาตรา 254 และต้องมีคำขอทั้งสองกรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13624/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อุทธรณ์ข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ และเหตุผลที่ไม่รอการลงโทษจำคุกจากพฤติการณ์ร้ายแรง
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกเท่านั้น ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงินของสถานีอนามัยบ้านดอนนา ได้ครอบครองเงินจำนวน 433,420 บาท ของผู้เสียหาย และมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน การเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้ผูกพันและหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้และหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจที่ใช้ประกอบกับใบคำขอถอนเงินเพื่อเบิกเงิน แต่จำเลยกลับใช้ใบเบิกถอนเงินจำนวน 433,420 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงองค์ประกอบความผิดที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเงินของผู้เสียหายไปโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13353/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยหลังศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12668/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รอการลงโทษเจ้ามือการพนัน: ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจจากพยานหลักฐานและวงเงินพนันได้ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือที่มีวงเงินในการเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก เป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องดังกล่าวว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสิบสามคนพร้อมเงินสด 28,000 บาท และอุปกรณ์ในการเล่นการพนัน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 5 ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการให้เหตุผลถึงการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องและคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 ประกอบมาตรา 215 พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11985/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลและการแจ้งความเท็จ: ศาลชั้นต้นประทับฟ้องคดีที่เกินอำนาจ ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาและคืนฟ้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแจ้งความร้องทุกข์และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามความเข้าใจของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ประทับฟ้องและโอนคดีไปให้ศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีไปนั้นเป็นการไม่ชอบ จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ และพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11447/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: จำเลยมิอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี แล้วฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่ระหว่างฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 ดังนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น กลับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดใช้ค่าจอดรถจากการซ่อมรถยนต์เช่าซื้อ: สิทธิเรียกร้องของผู้ซ่อมเมื่อเจ้าของรถไม่ชำระค่าซ่อม
ว. เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย แต่ ว. นำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยมาให้โจทก์ซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อม โจทก์จึงต้องเก็บรักษารถยนต์ที่โจทก์ซ่อมซึ่งเป็นของจำเลยไว้ในอู่อีก ย่อมเป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าบำรุงรักษารถยนต์ในส่วนค่าจอดรถจากจำเลยได้
of 6