คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องต้องระบุรายละเอียดภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาชัดเจน มิฉะนั้นถือเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกอบกิจการร้านเพลงคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ถือเป็นความผิด
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ร้านวีดิทัศน์" หมายความว่าสถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบกิจการให้บริการร้านเพลงคาราโอเกะอันเป็นร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้าน ค. และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการเพลงคาราโอเกะดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคสี่ ที่ว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น ไม่นำมาใช้กับคดีนี้เพราะไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องส่วนใดที่ระบุว่าร้านอาหาร ค. ของจำเลยกับพวกเป็นร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13627/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานประกอบกิจการวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระบุหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า นายทะเบียนหมายความว่านายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดแล้วแต่กรณี การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานดังกล่าวย่อมหมายถึงการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายดีวีดีคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 54 มาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10673/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดลิขสิทธิ์เกมคอมพิวเตอร์: องค์ประกอบความผิดและข้อกำหนดการคุ้มครองลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติ "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "วีดิทัศน์" ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น... และนิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ชื่อร้าน "ไอซ์เกมส" โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไปเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกมและยึดได้เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูโทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกมซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดีทัศน์ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมายถึง งานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้
ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4438/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการให้เช่า/จำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
ความผิดฐานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา 4 บัญญัติให้คำนิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่า กิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามข้อ (จ) ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ จึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4438/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และประกอบกิจการภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้โทษและยกฟ้องบางส่วน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำซ้ำดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดตามฟ้องและมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งงานดังกล่าว เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ป.อาญา มาตรา 91 จำเลยให้การรับสารภาพตามข้อหาในคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1), 28 (1) เพียงกระทงเดียว จึงไม่ถูกต้อง
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่ากิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์ จึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการดังกล่าว ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์อันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ระบุมาตรา 54 มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 54 จำเลยคงมีความผิดเฉพาะมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจาก พ.ร.บ.เทป/วีดิทัศน์ เป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และผลกระทบต่อการลงโทษจำเลย
แม้จะมี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 3 (4) บัญญัติยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ ทั้งฉบับ แต่ตามกฎหมายใหม่มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามศัพท์ "ภาพยนตร์" ไว้ว่า หมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องและมาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนั้น เมื่อแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ซึ่งตามปกติแล้วย่อมเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แผ่นดีวีดีภาพยนตร์จึงเป็นวัสดุที่มีลักษณะเข้านิยามคำว่าภาพยนตร์ตามกฎหมายใหม่ การที่จำเลยจำหน่ายดีวีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงยังคงเข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายภาพยนตร์ตามกฎหมายใหม่นั้นมีระวางโทษตามมาตรา 79 ปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่โดยไม่มีโทษจำคุก ซึ่งต่างจากความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปและวัสดุโทรทัศน์ตามกฎหมายเก่าซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 34 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น โทษตามกฎหมายใหม่ที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจเลือกลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าบังคับแก่คดี เมื่อโทษตามกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณมากกว่ามีเพียงเฉพาะโทษปรับกรณีจึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายวีดิทัศน์ได้
เมื่อโทษปรับตามกฎหมายเก่าลงโทษปรับได้เพียงไม่เกินสองหมื่นบาท แต่โทษตามกฎหมายใหม่กำหนดให้ปรับอย่างน้อยที่สุดขั้นต่ำตั้งแต่สองแสนบาท ทั้งยังให้ปรับต่อไปรายวันอีก โทษปรับตามกฎหมายเก่าจึงเป็นคุณมากว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามกฎหมายเก่า เพราะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10458/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจาก พ.ร.บ.เทป/วีดีโอ เป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และการใช้บทกฎหมายเดิมบังคับใช้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ออกใช้บังคับให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ ทั้งฉบับ แต่การที่จำเลยให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวิดีโอซีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเข้าลักษณะเป็นการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ กรณีไม่อาจถือได้ว่ามีการยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย ส่วนแผ่นวิดีโอซีดีเพลง แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวิดีโอซีดีนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้โดยไม่ปรากฏว่าเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องอันเป็นภาพยนตร์ หรือเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ หรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอันเป็นวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งกฎหมายเดียวกัน ดังนั้นการกระทำของจำเลยในส่วนนี้ ซึ่งเดิมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โทษปรับตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 79 มีระวางโทษหนักกว่าจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ปรับจำเลย 6,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 3,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 39(4) จำเลยอุทธรณ์เรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างพิจารณาคดี: กรณีฐานความผิดละเมิดลิขสิทธิ์และประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายดีวีดีที่บันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ซึ่งตรงกับบทนิยามศัพท์คำว่า ภาพยนตร์ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังแล้ว จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย
ในส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดีตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำความผิด ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างพิจารณาคดี และหลักการใช้กฎหมายที่คุ้มครองจำเลยมากที่สุดในคดีจำหน่ายวีซีดีผิดกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3(4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีเกมซึ่งบันทึกภาพและเสียงอันเข้าลักษณะเป็นวีดิทัศน์ตามบทนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายใหม่ จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว
ในส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดี ตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายเก่าเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายเก่าบังคับแก่จำเลยปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง