คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1308

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 93 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินงอกริมตลิ่งสาธารณประโยชน์: สิทธิในที่ดินงอกเป็นของที่ดินสาธารณประโยชน์เดิม
ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "ที่ชายทะเล" หมายถึง "เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด" ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินงอกริมตลิ่ง vs. สาธารณสมบัติ: การบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ต้องมีเจ้าของเป็นเอกชน
ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10662/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่งอกริมตลิ่งกรรมสิทธิ์เป็นของเจ้าของที่ดินเดิม แม้เกิดจากเขื่อนหิน ศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
ที่งอกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวย่อมถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่น้ำทะเลท่วมถึง ต่อมามีท่าเทียบเรือของเอกชนก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ตอนหลังกลับให้การว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท อันเป็นคำขอประธานเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตในชั้นฎีกาอีกส่วนหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินงอกริมตลิ่ง: ที่ดินงอกเกิดขึ้นจากเขื่อน แม้ไม่ใช่ธรรมชาติ ก็ถือเป็นที่ดินงอกของเจ้าของที่ดินเดิม
แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่งอกริมตลิ่ง ผู้รับโอนที่ดินเดิมย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่งอกไปด้วย
คำฟ้องของโจทก์มีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ทนายโจทก์จะไม่ระบุเลขที่ใบอนุญาตว่าความไว้ในคำฟ้องเนื่องจากความหลงลืม แต่ทนายโจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายความซึ่งระบุเลขใบอนุญาตว่าความของตนไว้ต่อศาลขณะยื่นคำฟ้องซึ่งจำเลยสามารถที่จะตรวจสอบความสามารถและอำนาจในการดำเนินคดีของทนายได้อยู่แล้ว และการที่ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในสำเนาคำฟ้องในช่องผู้เขียนหรือพิมพ์ แตกต่างจากในคำฟ้องที่ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงและพิมพ์ หาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนหรือไม่ โจทก์เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนจึงได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยและเนื่องจากประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญกว่าทุกประเด็น จึงให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็นแล้วให้โจทก์สืบแก้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยจะมาเถียงในชั้นฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบไม่ได้
การที่จำเลยซื้อที่ดินซึ่งเกิดที่งอกริมตลิ่ง จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ส่วนที่เกิดที่งอกด้วยโดยผลของกฎหมาย ส่วนเจ้าของที่ดินเดิมพ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมจะได้ขอออกโฉนดในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไว้และต่อมาได้รับโฉนดในภายหลังแล้วโอนขายให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่งอกริมตลิ่ง การโอนสิทธิและผลกระทบต่อผู้รับโอน
คำฟ้องของโจทก์มีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วย่อมเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่สำเนาคำฟ้องของโจทก์ที่ส่งให้จำเลย ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนหรือพิมพ์แทนที่จะลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงและพิมพ์ หาใช่เป็นข้อสาระสำคัญไม่ ส่วนที่ทนายโจทก์ไม่ได้ระบุเลขที่ใบอนุญาตว่าความไว้ในคำฟ้องและสำเนาคำฟ้องที่ส่งให้จำเลยก็อาจจะเนื่องจากความหลงลืม แต่อย่างไรก็ตามทนายโจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายความซึ่งระบุเลขใบอนุญาตของตนไว้ต่อศาลขณะยื่นคำฟ้อง ซึ่งจำเลยสามารถที่จะตรวจสอบความสามารถและอำนาจในการดำเนินคดีของทนายโจทก์ได้อยู่แล้ว หาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายไม่
ส. โอนขายที่ดินมีโฉนดอันเป็นที่ดินแปลงเดิมให้บริษัท บ. เมื่อปี 2519 ขณะที่โอนที่ดินแปลงเดิมไปมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้นแล้ว เพราะ ส. ขอออกโฉนดที่งอกตั้งแต่ปี 2516 แต่ยังไม่เป็นที่ยุติว่ามีส่วนที่เป็นที่งอกมากน้อยเพียงใด เพราะการออกโฉนดยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ และไม่เคยมีการบันทึกในโฉนดเดิมไว้ให้ปรากฏการเกิดมีที่งอกขึ้นมาในที่ดินย่อมจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 เมื่อที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกได้โอนให้บริษัท บ. ไปแล้ว ที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกย่อมตกติดไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลของบทกฎหมายดังกล่าว ส. พ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่า ส. จะได้ขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกค้างไว้ แล้วต่อมาในปี2522 ได้มีการออกโฉนดสำเร็จบริบูรณ์เป็นชื่อของ ส. ก็ไม่ทำให้ ส. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกนั้นไป และไม่มีอำนาจที่จะขายที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีไปกว่า ส. และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินจาก ส. อันเป็นที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่งจากเจ้าของเดิมมาโดยถูกต้อง ย่อมทำให้ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกนั้นด้วยโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินชายทะเลที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้มีสิทธิครอบครองไม่ได้
หาดทรายชายทะเลซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติโดยทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสองที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่โจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินชายทะเลสาธารณะ: สิทธิครอบครองและอำนาจฟ้องขับไล่
หาดทรายชายทะเลซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติโดยทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ โจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินงอก: การครอบครอง, สาธารณสมบัติ, และระยะเวลาการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ดังนั้นก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินงอก การครอบครองสาธารณสมบัติ และค่าขึ้นศาล
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1304(2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยอันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ฟ้องด้วยว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยว จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของจำเลย กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
of 10