คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 18

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อสกุลเป็นชื่อบริษัท การคุ้มครองสิทธิในชื่อ และความเสียหายที่ต้องพิสูจน์
บริษัทจำเลยใช้ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยโดยไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการที่จำเลยใช้ชื่อ บูรพาชีพ เป็นชื่อของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของนามสกุลบูรพาชีพต้องเสื่อมเสียประโยชน์ ต้องเสียหายหรือเป็นที่วิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป โจทก์จึงไม่อาจขอให้สั่งห้ามจำเลยมิให้ใช้ชื่อ บูรพาชีพ เป็นชื่อของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 18
บริษัทบูรพาโอสถ จำกัด เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ หากบริษัทบูรพาโอสถ จำกัด ได้รับความเสียหายอย่างไรจากการใช้ชื่อบูรพาชีพ เป็นชื่อของจำเลย ก็เป็นเรื่องที่บริษัทบูรพาโอสถจำกัด ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8137/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ชื่อสกุล การใช้ชื่อบริษัทที่คล้ายคลึงกัน การพิสูจน์ความเสียหาย
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่า การที่จำเลยใช้ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือโจทก์ได้รับความเสียหายหรือต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการที่จำเลยใช้ชื่อ บูรพาชีพ เป็นชื่อของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ ต้องเสียหายหรือเป็นวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไปโจทก์จึงไม่อาจขอให้สั่งห้ามจำเลยมิให้ใช้ชื่อ บูรพาชีพเป็นชื่อของจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 18 ได้ ส่วนบริษัทบูรพาโอสถ จำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ จะได้รับความเสียหายอย่างไรจากการใช้ชื่อบูรพาชีพ ของจำเลย เป็นเรื่องต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเองไม่เกี่ยวกับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7017/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าซ้ำกันละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้จำกัดขอบเขตการชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) ชื่อบริษัทในเครือเป็นชื่อทางการค้า และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ในต่างประเทศ ก่อนที่จำเลยที่ 1 เริ่มใช้ชื่อนิติบุคคลของตน และจำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งโจทก์ดำเนินธุรกิจการค้าครอบคลุมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)" ในประเทศไทยดีกว่าจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ทั้งยังมีการใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล" ในการดำเนินธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลว่า "บริษัทยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด" จึงทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "UPT Universal Pictures (Thailand) Co., Ltd." ซึ่งมีคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) รวมอยู่ด้วย ย่อมจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้ากับโจทก์ โจทก์ในฐานะที่ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการในคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)" มาก่อน ย่อมจะมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อนิติบุคคลได้ แม้ปัจจุบันนี้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนสาขาชื่อเดียวกันในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะไม่มีการประกอบธุรกิจการค้าในประเทศไทย อันจะทำให้เป็นการไม่มีการแข่งขันกับกิจการของโจทก์สำหรับการพิจารณาว่าสาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่ นั้น ศาลย่อมพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในสำนวน รวมทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลและวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของพยานบุคคลที่นำเข้าสืบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 โดยห้ามใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" กับชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และไม่อาจกระทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เป็นเหตุให้ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยุติการใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
อนึ่งโจทก์แก้อุทธรณ์โดยขอให้แก้ไขคำพิพากษาที่ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกับขอให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องและต้องการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขในประเด็นดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิใช่เพียงตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ ทั้งกรณีหาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามที่โจทก์กล่าวอ้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและการลวงขายสินค้า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและห้ามใช้เครื่องหมายการค้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
การที่ ต. บิดาของโจทก์ที่ 2 ได้รับพระราชทานตราตั้งและพระครุฑจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้กิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเมื่อปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากิจการค้าทองของห้างตั้งโต๊ะกังเป็นกิจการค้าทองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด" เมื่อปี 2528 หลังจากกิจการห้างทองตั้งโต๊ะกังมีชื่อเสียงมาถึงประมาณ 64 ปี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 มาใช้ประกอบเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่างๆ เช่นเดียวกับกิจการของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต และที่จำเลยทั้งสี่ติดป้ายประกาศชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเน้น คำว่า "โต๊ะกัง" และใช้ตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า "บุญสิริ" มาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาไม่สุจริตแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าคำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยทั้งสี่เป็นกิจการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ "โต๊ะกัง" ประกอบอยู่ในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "บริษัทห้างทองโต๊ะกังบุญสิริ จำกัด" ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421
โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่าโต๊ะกังประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" หรือคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ทั้งที่เป็นภาษาไทย จีน และภาษาอังกฤษจะได้รับการจดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.ลักษณะเครื่องหมายแลยี่ห้อการค้าขาย พระพุทธศักราช 2457 และโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แต่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวกับสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองผลิตออกจำหน่ายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิดีกว่านั้นได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้น
การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1) มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม โจทก์ทั้งสองฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว คดีของโจทก์ทั้งสองที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นจึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีนคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มาใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ เช่นเดียวกับของโจทก์ทั้งสอง กับถือโอกาสนำเครื่องหมายการค้าทั้งห้าไปยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าดังกล่าวในจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวก ด้วยเห็นว่าขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยและจีน คำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" กับสินค้าจำพวกที่ 14 ดังกล่าว ทั้งยังแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ชอบมาตั้งเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการค้าทองของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าทั้งห้าดังกล่าวโดยมีเจตนาไม่สุจริต และมีเจตนาเพื่อทำลวงขายสินค้าทองและโลหะอันมีค่าต่าง ๆ ว่าเป็นของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์ที่ 2 จะยังมิได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 14 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และแม้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลวงขายนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายอักษรไทยและจีน คำว่า "โต๊ะกัง" และ คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ที่ยังไม่จดทะเบียน โจทก์ที่ 2 ไม่อาจจะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้าเครื่องหมายนั้นกับสินค้าทุกประเภทของจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า.2474 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสี่ได้เพียงมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นกับสินค้าจำพวกที่ 14 ทั้งจำพวกในลักษณะที่เป็นการลวงขายสินค้าดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นสินค้าโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนการจดทะเบียนและการเรียกร้องค่าเสียหายจากการลอกเลียนแบบและใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในเครื่องหมายการค้านั้นตั้งแต่ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ดังนี้ การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า "TOH KANG" และ "TANG TOH KANG" มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงได้นำคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นภาษาไทย คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "โต๊ะกังบุ้นกี่" เป็นอักษรภาษาไทยและจีนรวมกัน คำว่า "TOA KANG" เป็นอักษรภาษาอังกฤษ กับคำว่า "โต๊ะกังเยาวราช" เป็นอักษรภาษาไทยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเงิน ทอง นาก และอัญมณี ดังนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้น ทุกเครื่องหมายจะมีคำว่า "โต๊ะกัง" แสดงว่าสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ที่คำว่า "โต๊ะกัง" หาใช่อยู่ที่คำว่า "บุ้นกี่" หรือ "เยาวราช" ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า "โต๊ะกัง" ที่เป็นภาษาไทย จีนและอังกฤษของโจทก์ทั้งสองจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้จดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่ใช้ติดต่อกันมาโดยตลอดเสียไปแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8433/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่สุจริต ละเมิดสิทธิเจ้าของชื่อเดิม ศาลสั่งห้ามใช้ชื่อ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ที่โจทก์ทั้งสองได้ใช้กับกิจการให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 นำชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ไปขอจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยนำชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ว่า "บริษัทไทยคมเทเลคอม จำกัด" โดยจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งบริการรับซ่อมและติดตั้งเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดอันเป็นวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการทำนองเดียวกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้เช่าช่องสัญญาณสื่อสารดาวเทียมและจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการเอาชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองมาใช้เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบและเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและต้องเสื่อมเสียประโยชน์เนื่องจากประชาชนผู้ซื้ออุปกรณ์สื่อสารของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจสับสนหรือหลงผิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือโจทก์ทั้งสอง ส่งผลให้โจทก์ทั้งสองจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารของโจทก์ทั้งสองได้น้อยลง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสองเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 18, 420 และ 421 จำเลยทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิใช้ชื่อ "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสิบสองใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ระงับความเสียหายและขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "ไทยคม" ของโจทก์ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยทั้งสิบสองใช้คำว่า "ไทยคม" และภาษาอังกฤษคำว่า "THAICOM" ทั้งในการเขียนและเรียกขานเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือใช้ประกอบกิจการค้าของจำเลยที่ 1 แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองคำว่า "ไทยคม" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนชื่อบริษัทที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำเลยที่ 9 มีอำนาจหน้าที่ปฏิเสธการจดทะเบียน
คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 เป็นเรื่องพิมพ์ตัวเลข พ.ศ. ของระเบียบดังกล่าวผิดพลาดโดยพลั้งเผลอ เมื่อโจทก์ขอแก้ไขให้ถูกต้อง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้แก้ไขแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์กล่าวอ้างระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ ฉบับ พ.ศ. 2535 ไม่เคลือบคลุม
ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า SONY และโซนี่ของโจทก์เป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไป จำเลยที่ 1 ก็รู้ การที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนคำว่าบริษัทโซนี่อิมเป็กซ์ จำกัด เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า SONYIMPEXCO.,LTD. โดยไม่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลายของคำว่า SONY หรือโซนี่ โดยไม่สุจริต ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของโจทก์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อนิติบุคคลคำว่า SONY และโซนี่จึงมีสิทธิเรียกให้ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และมีสิทธิขัดขวางจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SONY หรือโซนี่ ของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 47
ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทเพราะอาจก่อให้เกิดการสำคัญผิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลักษณะ วัตถุที่ประสงค์ ฐานะของกิจการหรือโดยประการอื่นตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2535 ข้อ 21(5) จำเลยที่ 9 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1ด้วยเหตุผลดังกล่าวแต่เมื่อรับจดทะเบียนไว้แล้ว ก็ต้องเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนนั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: โจทก์มีอำนาจฟ้องแม้ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ความเสียหายประเมินตามผลกระทบต่อชื่อเสียงและคุณภาพสินค้า
ปัญหาว่าโจทก์จะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปและคำว่า WAXY ใช้กับสินค้าน้ำยาเคลือบเบาะหนังและจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้ารูปและคำว่า WAXY ไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
ส่วนความเสียหายของโจทก์ แม้ยอดขายสินค้าของโจทก์จะต่ำลง และหลังจากจำเลยทั้งสองถูกจับกุมยอดขายสินค้าของโจทก์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็เป็นเพียงผู้รับสินค้ารายหนึ่งจากผู้ผลิตสินค้ามาจำหน่ายมิใช่ผู้ผลิตสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดขายสินค้าของโจทก์ลดลงจำนวนมาก แต่ถือเป็นความเสียหายเพียงส่วนหนึ่งที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อสินค้ามีเครื่องหมายการค้าแล้วไปขายต่อ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ตามที่จดทะเบียนไว้ก็ตามก็เป็นเพียงคุ้มครองให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ และมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายกาค้ากับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้าดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลของตนไปในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้าจากราคาสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้าดังกล่าวที่ซื้อมาออกจำหน่ายต่อไปอีก แม้กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยซื้อจากผู้ขายซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำมาจำหน่ายจะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ห่อหุ้มกล่อง กับข้อความว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี" และมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท พ. ว่าเป็นศูนย์บริการ ก็ยังคงแสดงว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่อยู่ในกล่องนั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่นั่นเอง โดยบริษัท พ. เป็นเพียงผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนเท่านั้นมิได้มีลักษณะเป็นการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท พ. หรือเป็นของจำเลยผู้นำมาจำหน่ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ซื้อสินค้าปัตตาเลี่ยนวอห์ลของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้คำทั่วไป 'TWO WAY' เป็นเครื่องหมายการค้า ต้องไม่ทำให้สับสนและมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายเดิม
คำว่า TWOWAY เป็นคำทั่วไปมีความหมายสองทาง ซึ่งบุคคลทั่วไปนำคำนี้ไปใช้ได้ แม้โจทก์จะจดทะเบียนคำว่า TWOWAY และ ทูเวย์ เป็นเครื่องหมายการค้าของตนแล้ว ก็ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำคำนี้ไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด การที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการ TWOWAY หรือ 2WAYประกอบรูปลูกศรสลับหัวอันเป็นลักษณะบ่งเฉพาะที่โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นมา โดยนำไปใช้ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า Tellme อันมีลักษณะขยายให้เห็นคุณสมบัติของแป้ง Tellme ว่าใช้ได้สองทางทั้งผสมน้ำและไม่ผสมน้ำ ฉะนั้น การที่บุคคลอื่นใช้คำว่า ทูเวย์เคค ประกอบคำว่า sunmelon โดยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะใช้กับสินค้าแป้งชนิดเดียวกับของโจทก์ แต่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานแตกต่างกันซึ่งไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดถึงแหล่งที่มาของสินค้าแป้งดังกล่าวได้
of 11